คพ.คาดขยะมือถือปีนี้11ล้านเครื่อง-เร่งผลักดันกม. ร้านค้าโอด 4 G ฉุดราคารุ่นเก่าร่วง

สังคม
13 ก.พ. 59
13:51
467
Logo Thai PBS
คพ.คาดขยะมือถือปีนี้11ล้านเครื่อง-เร่งผลักดันกม. ร้านค้าโอด 4 G ฉุดราคารุ่นเก่าร่วง
ในแต่ละปี ประเทศไทยมีขยะประเภทต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หากนับเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ แล้ว นับว่ามีปริมาณไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะขยะโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และโทรศัพท์บ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

ประกอบกับปัจจัยที่มากระทบอย่างการประมูล 4 จี คลื่นความถี่ 1800, 900 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะเป็นตัวเร่งให้ขยะโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปอีก รวมทั้งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ทำให้การกำจัดขยะเหล่านี้ไม่เป็นระบบ และควบคุมได้ยาก

แหล่งข่าวจากกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมาจนถึงปี 2564 พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ในปี 2559 ปริมาณขยะโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และโทรศัพท์บ้านจะอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านเครื่อง ส่วนในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านเครื่อง และปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นการเพิ่มประมาณปีละ 1 ล้านเครื่อง จำนวนดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ไม่รวมประมูล 3 จี และ 4 จี แต่คำนวณจากพฤติกรรมการใช้ปกติ และอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ เนื่องจากในระหว่างการศึกษาในปี 2555 ยังไม่มีประเด็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง

สาเหตุที่ขยะโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากมีอายุการใช้งานสั้น หากเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างโทรทัศน์ และตู้เย็น เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อผู้บริโภคในการเปลี่ยนเครื่องใหม่ ส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนเครื่องเพราะเครื่องเสีย แต่เปลี่ยนเพราะปรับตามเทคโนโลยี หรืออาจจะมีโมเดลที่ผู้บริโภคอยากใช้ หรือซอฟต์แวร์ใหม่ไม่รองรับ ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ จากเดิมเราใช้โทรศัพท์มือถือไว้โทรอย่างเดียว สามารถใช้ได้นาน 10 ปี ส่วนในปัจจุบันใช้ไม่เกิน 2-3 ปี ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปโดยปริยาย วงจรชีวิตโทรศัพท์มือถือสั้นลง

การปรับเพิ่มขึ้นของขยะโทรศัพท์มือถือปีละ 1 ล้านเครื่อง อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ให้บริการที่ประมูล 4 จีได้ อาจจะออกโปรโมชั่นใหม่มาเรียกลูกค้า ซึ่งอาจจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องใหม่เร็วขึ้น เช่น ซื้อโปรโมชั่น 4 จี ให้ใช้เครื่องเปล่า แต่ผูกสัญญาไว้ 2 ปี สำหรับโทรศัพท์มือถือเก่า ซากทั่วไปจะขายให้ร้านขายของเก่า และซาเล้งประมาณร้อยละ 50 เก็บไว้ที่บ้านหรือสำนักงานประมาณร้อยละ 25 เนื่องจากโทรศัพท์มือถือยังไม่เสีย แต่อาจตกรุ่น ส่วนอีกร้อยละ 25 ให้คนอื่น หรือบริจาคให้องค์กรการกุศลและองค์กรต่างๆ

 

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีระบบบริหารการจัดการและควบคุมขยะโทรศัพท์มือถือที่ถูกต้อง ซึ่งการควบคุมทำได้ยาก เพราะว่าขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยาก สิ่งที่ทำได้คือการให้ความรู้กับประชาชนว่าขยะโทรศัพท์มือถือ หลังจากใช้งานแล้วถ้านำไปกำจัดไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบอย่างไร และควรทิ้งแบบไหน กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายที่จะห้ามประชาชนทิ้งขยะโทรศัพท์มือถือปะปนไปกับขยะทั่วไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2558 ซึ่งขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้าในการเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ตนเองผลิตหรือจำหน่ายในประเทศไทย โดยพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และแนวความคิดว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นของเสียอันตราย ซึ่งในต่างประเทศ ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินในการกำจัดทิ้ง แต่ในประเทศไทยมีธุรกิจร้านรับซื้อของเก่า ประชาชนจะมองว่าเป็นสิ่งที่มีค่าและนำไปขายได้ ทำให้เกิดเป็นปัญหา

ด้านเจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้าย่านรามคำแหงรายหนึ่ง กล่าวว่า การประมูล 4 จี คลื่นความถี่ 1800, 900 เมกะเฮิรตซ์ ไม่กระทบต่อราคาขายโทรศัพท์มือถือมากนัก โดยราคาของรุ่นที่สามารถใช้ 3 จี และ 4 จียังไม่ลง ส่วนรุ่นที่ใช้ 2 จี ราคาจะลดลงมาประมาณร้อยละ 5-10 ขณะที่โทรศัพท์มือถือมือ 2 ราคาจะลงร้อยละ 5-10 เช่นกัน เนื่องจากลูกค้าหันไปซื้อโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 3 จี และ 4 จีเพิ่มขึ้น
ส่วนโทรศัพมือถือรุ่นเก่าไม่ได้นำไปไหน เมื่อรับมาจากยี่ปั๊วแล้ว ร้านจะต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เอง ทำให้ยังต้องนำมาขายในร้าน เนื่องจากยี่ปั๊วไม่รับคืน นอกเสียจากยังไม่แกะออกจากกล่อง จึงจะสามารถนำไปเปลี่ยนกับรุ่นใหม่ได้ในมูลค่าเท่ากัน หรืออาจบวกเงินเพิ่มเข้าไป แต่ไม่สามารถนำโทรศัพท์มือถือไปแลกเป็นเงินได้

สำหรับโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่สุด ซึ่งมีขายในร้านจะเป็นโนเกีย 105 และซัมซุง ฮีโร่ ที่เป็นโทรศัพท์มือถือ 2 จี ยังมีลูกค้ามาถามหาอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากมีราคาถูกและลูกค้าของร้านจะอยู่ในกลุ่มตลาดล่าง โดยลูกค้าประมาณร้อยละ 40 เท่านั้นที่รู้เกี่ยวกับเรื่อง 3 จี และ 4 จี ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 จะไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เวลามาซื้อจะตั้งงบประมาณไว้ในใจแล้วเลือกรุ่นที่เหมาะกับตัวเอง

 

ขณะที่อุปกรณ์เสริมไม่ได้มีการโล๊ะสต็อก เช่น แบตเตอรี่และอุปกรณ์ชาร์จของโทรศัพท์มือถือที่ตกรุ่นไปแล้ว ยังสามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหูฟังกลับขายไม่ค่อยดี เนื่องจากไม่ค่อยเสียและคนไม่นิยมมาซื้อใหม่

ขณะที่เจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือรายหนึ่งในใจกลางเมืองของ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า หลังจากประมูล 4 จีแล้ว ราคาโทรศัพท์มือถือที่ไม่รองรับ 4 จี ราคาลงทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นของใหม่หรือของมือ 2 โดยลงประมาณร้อยละ 10 ขึ้นไป ยกเว้นโทรศัพท์มือถือ ไอโฟน และรุ่นเรือธง ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการขายส่งและขายปลีก เนื่องจากร้านค้าไม่ต้องการรับเครื่องรุ่นเก่ามาขาย เพราะว่าสินค้าจะค้างสต็อก ขณะที่ยี่ปั๊วเองต้องการให้ร้านช่วยระบายสินค้า

ในปัจจุบัน ลูกค้าที่เข้ามาซื้อโทรศัพท์มือถือจะเลือกรุ่นที่รองรับ 4 จี เนื่องจากราคาโทรศัพท์มือถือ 4 จีในปัจจุบันไม่ได้แพงกว่ากว่ารุ่นที่รองรับ 3 จีมาก อาจเรียกได้ว่าราคาไล่เลี่ยกันเลยด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกัน ลูกค้าบางส่วนไม่สนใจว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ 3 จี หรือ 4 จี ด้วยซ้ำไป จะเน้นไปที่หน้าจอใหญ่และสเปคเครื่องดี ทางร้านจะเป็นฝ่ายบอกมากกว่า ส่วน 2 จีแทบจะไม่มีคนใช้แล้วและร้านไม่รับมาขายนานแล้ว

ส่วนโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า ร้านจะนำไปเป็นเครื่องสำรองให้ลูกค้าเวลานำมาส่งซ่อม แต่ไม่ได้มีจำนวนมาก โดยต้องบริหารจัดการสินค้าให้ดี เพราะว่าเมื่อรับโทรศัพท์มือถือมาขายแล้ว ทางยี่ปั๊วจะไม่รับซื้อคืนในทุกกรณี จะเป็นการซื้อขาดขายขาด หากมีสินค้าค้างสต็อก อาจจำเป็นต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าทุนหรือยอมขาดทุน ทำให้ร้านจะไม่สต็อกโทรศัพท์มือถือที่มีราคาแพง เนื่องจากราคาลงมาก ครั้งละประมาณ 2,000-3,000 บาท ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ขาดทุนได้

สำหรับโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่สุด ซึ่งมีขายในร้านจะเป็นโนเกีย 208 เนื่องจากร้านมีการบริหารจัดการดี ลูกค้าของร้านจะอยู่ในกลุ่มตลาดกลางลงล่าง โดยลูกค้าประมาณร้อยละ 50 ที่รู้เกี่ยวกับเรื่อง 3 จี หรือ 4จี ที่เหลืออีกร้อยละ 50 จะไม่รู้

ขณะที่อุปกรณ์เสริมจะรับมาขายน้อย ทำให้ไม่ค่อยมีสินค้าค้างสต็อก เช่น เคส แบตเตอรี่ อุปกรณ์ชาร์จ จะรับมาขายเฉพาะตรงกับรุ่นที่มีขายในร้านและขายดีเท่านั้น จึงจะสำรองสินค้าไว้ แต่มีไม่ค่อยมาก โดยอุปกรณ์ชาร์จกว่าจะพังใช้เวลาเป็นปี และโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่จะเสียก่อนอุปกรณ์ชาร์จด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ ในปัจจุบัน อุปกรณ์ชาร์จส่วนใหญ่ยังสามารถใช้ร่วมกันได้เกือบทุกยี่ห้อ ยกเว้นแบตเตอรี่เท่านั้นที่ใช้ร่วมกันไม่ได้ ส่วนหูฟังส่วนใหญ่ลูกค้าไม่ค่อยซื้อแล้ว หากหูฟังที่แถมมากับโทรศัพท์มือถือเสียไป ขณะที่ฟิล์มกันรอย จะสำรองไว้เยอะ เพราะว่ามีลูกค้านำมาเปลี่ยนบ่อย

มีนา บุญมี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง