ภัยแล้งกระทบผลผลิตดอกไม้วันมาฆบูชา

ภัยพิบัติ
21 ก.พ. 59
13:33
292
Logo Thai PBS
ภัยแล้งกระทบผลผลิตดอกไม้วันมาฆบูชา
ในปีนี้ดอกบัวและดาวเรืองในช่วงมาฆบูชา อาจจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอีกจากสถานการณ์ภัยแล้ง เพราะแหล่งปลูกหลายแห่งทั่วประเทศ ขาดแคลนน้ำและทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง

 

วันนี้ (21 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาดอกไม้ช่วงเทศกาลมาฆบูชาใน จ.อ่างทอง ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งดอกบัว ดาวเรือง และกล้วยไม้ ผู้ค้าคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าของสวนดอกบัวเกือบทุกพื้นที่ว่าภัยแล้งทำให้สวนบัวเสียหาย เช่นเดียวกับนาบัวใน ต.คลองคะเชนทร์ อ.เมือง จ.พิจิตร แห้งเหี่ยว และไม่ออกดอกเพิ่ม จนกระทบต่อดอกบัวที่จะนำมาจำหน่ายในช่วงวันมาฆบูชา

ไม่ต่างกับตลาดสด จ.นครสวรรค์ ผู้ค้าดอกไม้สดต้องรับซื้อดอกบัวจากต่างจังหวัดมาขาย หลังภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน ทำให้นาบัวในพื้นที่ขาดแคลน ราคาดอกบัวก็ปรับขึ้นจากดอกละ 3-10 บาท เป็นดอกละ 5-15 บาท ขณะที่ อ.เมืองจ.บึงกาฬ ผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้ต้นดาวเรืองไม่สมบูรณ์ และดอกมีขนาดเล็ก บางแปลงถึงกับยืนต้นตายในช่วงวันมาฆบูชาปีนี้ยอดขายไม่สูงเท่ากับปีที่ผ่านมา แม้จะมีราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว

คลองส่งน้ำระบบชลประทาน ต.ท่างาม อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก มีสภาพแห้งขอด หลังเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเหลือปริมาณน้ำเพียงร้อยละ 36 และยุติการส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน 150,000 ไร่ เพื่อสำรองน้ำไว้อุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ

ส่วนที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 จ.พิษณุโลก นำเครื่องสูบน้ำระยะไกล 2,500 เมตร สูบน้ำจากแม่น้ำเมย ลงอ่างเก็บน้ำบ้านวาเล่ย์เหนือ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง

เช่นเดียวกับตลาดแม่กลองและตลาดนัดใน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ราคาผักหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะผัก ที่ต้องนำเข้ามาจากพื้นที่ภัยแล้ง ผู้ค้าจำนวนหนึ่งประเมินว่าหากภัยแล้งยังยืดเยื้อ ราคาผักก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีก ส่วน ชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มไถดิน เพื่อปลูกถั่ว ข้าวโพด และพริก หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ตามคำแนะนำจากเกษตร จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะที่มีคำเตือนว่าในช่วงเดือนหน้า น้ำจะขาดแคลนมากขึ้น

การประปาส่วนภูมิภาค อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ต้องสูบน้ำจากลำห้วยธรรมชาติ มาพักไว้ในสระเพื่อผลิตน้ำประปาให้กับประชาชนกว่า 1,500 ครอบครัว พร้อมประกาศให้ใช้น้ำอย่างประหยัด หลังลำพะเนียง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบแห้งขอด ด้านผู้เลี้ยงโคบ้านกระฮาด ต.กระฮาด อ.เนินสง่า จ.ชัยภูมิ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ไม่มีหญ้าสดให้สัตว์เลี้ยง และยังต้องต้อนวัวไกลกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อหาแหล่งน้ำ

ขณะที่สำนักงานประปา จ.อุบลราชธานี ประสานสำนักชลประทานจังหวัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลการปล่อยน้ำในเขื่อนสิรินธรและเขื่อนปากมูล ให้คงระดับการปล่อยน้ำอยู่ที่ 1.50 เมตร บริเวณสถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตประปาให้ประชาชนกว่า 50,000 ครัวเรือน

ขณะที่เกษตรกร ต.พลกรัง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ติดกับคลองชลประทาน ที่รับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ได้งดการปลูกข้าวนาปรังทั้งหมด และทิ้งที่นาว่างเปล่า เนื่องจากคลองชลประทานแห้งขอดไม่สามารถสูบน้ำมาใช้ได้เหมือนปีที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง