"แย่งซื้อตัว-ผลิตไม่ทัน" วิกฤตนักบินขาดแคลน อุตสาหกรรมการบินไทย

เศรษฐกิจ
21 ก.พ. 59
20:04
4,773
Logo Thai PBS
"แย่งซื้อตัว-ผลิตไม่ทัน" วิกฤตนักบินขาดแคลน อุตสาหกรรมการบินไทย
อุตสาหกรรมการบินที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การผลิตบุคลากรไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการของตลาด ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า หากทั่วโลกผลิตบุคลากรด้านการบินได้ในอัตราเดิม สายการบินทั่วโลกจะประสบปัญหาการขาดแคลนนักบิน

อุตสาหกรรมการบินที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของสายการบินโลว์คอสต์ภายในประเทศที่ และการขยายเส้นทางบิน ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตบุคคลากรได้ทันกับความต้องการของตลาดการบิน สถิติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินทั้งหมด 6,072 คน แบ่งเป็นกัปตัน 2,376 คน ส่วนนักบินผู้ช่วยมี 3,600 คน แต่จำนวนเครื่องบินมีทั้งหมด 625 ลำ ขณะที่การผลิตบุคลากรของสถาบันการบินพลเรือน ปัจจุบันผลิตนักบินได้ประมาณ 100 คนต่อปี หรือรุ่นละ 20 คน เนื่องจากนักบินเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกอบรม เรียนรู้เครื่องบินที่ต้องฝึกบิน และต้องมีใบอนุญาต ซึ่งกว่าจะเป็นกัปตันอาจต้องใช้เวลา 5-6 ปี

 

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าขณะนี้กระทรวงคมนาคม โดยสถาบันการบินพลเรือน ได้ขยายจำนวนสิทธิ์การบิน เพิ่มอัตราการผลิตนักบินโดยจะผลิตเพิ่มได้อีกปีละ 20 คน

"อย่างที่เราทราบในทางกลยุทธ์ทางธุรกิจต้องซื้อตัวนักบินกัน ก็เกิดอยู่ แต่อยู่ที่ว่าขีดความสามารถผลิตบุคลากรทางด้านการบิน ทั้งนักบินและช่างซ่อม ต้องไปด้วยกัน หากเราผลิตแต่เฉพาะนักบิน มีเครื่องบินใช้บิน แต่ว่าไม่มีช่างซ่อมก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสถาบันการบินพลเรือน ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากร ในปี 2559 ก็มีการขยายจำนวนสิทธิ์การบิน ฟังดูตัวเลขแล้วก็อย่าตกใจ เพราะโดยปกติก็เปิด 4 รุ่น หนึ่งรุ่นมี 20 คน ตอนนี้เราเพิ่มเป็นรุ่นละ 25 คน

เมื่อนักบินขาดแคลนส่งผลให้แต่ละสายการบินเสนอผลตอบแทนให้นักบินเพิ่มขึ้น เฉพาะรายได้ของนักบินพาณิชย์เอกหรือกัปตัน ของไทยจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นประมาณ 380,000 บาทต่อเดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักบิน

 

นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวถึงวิกฤตขาดนักบินว่า ในอนาคตหากสายการบินต่างๆ เพิ่มจำนวนเครื่องบินจากเดิมที่มีอยู่แล้ว นักบินจะขาดแคลน และขาดแคลนในกลุ่มที่เป็นนักบินที่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกัปตัน และนักบินกลุ่มบังคับอากาศยาน เพราะว่านักบินกลุ่มนี้ต้องมีชั่วโมงบินพอสมควร 5-10 ปี เนื่องจากเมื่อสายการบินซื้อเครื่องบินมา รอไม่ได้ถึง 5-10 ปี เพราะฉะนั้น ถ้ามีการเติบโตของการบินในระยะเวลาอันใกล้ จึงเห็นว่าจะเกิดการขาดแคลนมาก

ก่อนหน้านี้มีการประเมินความต้องการของบริษัทผลิตเครื่องบินทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง ที่ได้ระบุว่า อีก 15 ปีข้างหน้า สายการบินทั่วโลกจะมีความต้องการนักบินถึง 500,000 คน จากการคำนวณเครื่องบินแอร์บัสและโบอิ้งที่รอการส่งมอบอีกกว่า 6,000 ลำ โดยหากทั่วโลกยังผลิตนักบินได้ในอัตราปัจจุบัน จะมีนักบินใหม่เกิดขึ้นเพียง 90,000-100,000 คน อาจส่งผลให้ไทยต้องเผชิญวิกฤตการขาดแคลนนักบินในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง