"ปรับองค์กร-ปลดพนักงาน" ผลกระทบฟองสบู่ทีวีดิจิทัล

เศรษฐกิจ
22 ก.พ. 59
20:40
1,184
Logo Thai PBS
"ปรับองค์กร-ปลดพนักงาน" ผลกระทบฟองสบู่ทีวีดิจิทัล
2 ปีที่แล้วที่ธุรกิจทีวีดิจิทัลเริ่มต้น เหมือนขบวนรถไฟที่ไม่มีใครอยากจะตก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ผู้ประกอบการบางรายลงจากรถไฟขบวนนี้ไปแล้ว บางรายต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด ปัญหาคือเม็ดเงินโฆษณาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

กว่า 3 เดือนแล้วที่นายจาตุรงค์ สิรินภัทราววรรณ์ อดีตหัวหน้าช่างภาพสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลแห่งหนึ่ง สมัครใจลาออกจากองค์กร เนื่องจากเห็นว่าการทำงานที่แข่งขันรุนแรงทำให้ความสุขในการทำงานลดลง ปัจจุบันเขาต้องปรับตัวพอสมควร โดยกำหนดรายจ่ายไม่ให้เกินวันละ300 บาทต่อวัน "ตอนนี้ผมเป็นมนุษย์หาเช้ากินค่ำ 500 บาท 700 บาท หรือ 1,000 ผมก็เอา แต่เวลาผมมี ผมออกจากงานเมื่อสิ้นปี 58 ผมอ่านหนังสือพอคเก็ตบุ๊คเล่มละ 400 กว่าหน้าจบไป 4-5 เล่ม รอยหยักในสมองผมมี ผมไม่ต้องเอาเวลาไปพะวงกับระบบทุน พูดง่ายๆ ว่าตรงนั้นเป็นทุน นายจาตุรงค์ประเมินว่า อีกไม่นานคงมีการปรับโครงสร้างองค์กรของทีวีดิจิทัลแห่งอื่น และอาจมีคนวงการนี้ตกงานอีกจากปัญหารายได้น้อยกว่ารายรับ

สอดคล้องกับ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เห็นว่ารายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายทำให้สถานีแต่ละแห่งต้องปิดตัวหรือเลือกปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุน และคัดกรองคนที่ทำงานได้ตามเป้าหมายไว้

"เป็นภาพสะท้อนอันหนึ่งของปรากฏการณ์ฟองสบู่ของทีวีดิจิทัล ที่หลายคนคาดการณ์กันเอาไว้ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวกลไกธรรมชาติจริงๆ ของผู้บริโภคสื่อ แต่ว่าถูกกระตุ้นด้วยกระแสการประมูลแข่งขันทำให้ตลาดการแข่งขันสูง ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคเองหลายๆคน อาจยังไม่ได้มีพฤติกรรมบริโภคทีวีดิจิทัลเหมือนกับที่ผู้ประกอบการได้คาดคิดกันเอาไว้" ดร.มานะ กล่าว

 

ด้านนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ยอมรับว่าสถานการณ์โดยรวมของผู้ประกอบไม่ดีนัก เเต่ก็ไม่เชื่อว่าจะผู้ประกอบการปิดตัวลงอีก หลังจากที่ไทยทีวีและโลก้าได้ยุติการออกอากาศและขอคืนใบอนุญาต

"วิ่ง สู้ ฟัด ถ้าภาษาไทยก็ตีนถีบปากกัด สภาวะของการตลาดในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ เท่าที่ดูตัวเลขงบประมาณการตลาดโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้น มีเท่าเดิม เท่าเดิมก็แปลว่าถดถอย ทีวีทุกช่องอยู่ได้ด้วยโฆษณา ถ้าโฆษณาถดถอยหรืออยู่เท่าเดิมก็ต้องเหนื่อยต่อไป" นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ระบุ

ในอีกด้านทีวีดิจิทัลหลายช่องอยู่ระหว่างการปรับโฉม พยายามเพิ่มคนดูด้วยสารพัดกลยุทธ์ ยังคงเปิดรับพนักงานเข้ามาเสริมทีม สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกองค์กรจะถอดใจ ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่พร้อมจะลงทุน โดยมีความหวังว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลยังมีโอกาสช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาและทำกำไรได้

ยังไม่ถึง 3 ปี แห่งการประมูลเพื่อให้ได้ใบอนุญาตด้วยเม็ดเงินสูง เกิดเป็นภาระรายจ่ายล่วงหน้าจำนวนมหาศาลที่แต่ละสถานีต้องแบกรับ ขณะที่รายได้จากโฆษณาหายไปตามสภาพเศรษฐกิจ ภาพของการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรจึงมีให้เห็น แต่จะเป็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอดหรือไม่นั้น ยังต้องติดตามชม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง