จี้รัฐทบทวนโครงการผันน้ำโขง ระบุได้รับผลกระทบมานับสิบปีทั้งระบบนิเวศ-ความหลากหลายพันธุ์ปลา

สิ่งแวดล้อม
23 ก.พ. 59
15:31
431
Logo Thai PBS
จี้รัฐทบทวนโครงการผันน้ำโขง ระบุได้รับผลกระทบมานับสิบปีทั้งระบบนิเวศ-ความหลากหลายพันธุ์ปลา
นักวิชาการจี้รัฐทบทวนโครงการผันน้ำโขง ระบุรัฐสร้างผลกระทบมานับสิบปี ตั้งแต่เขื่อนปากมูล ราษีไศล ฝายหัวนา ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุ์ปลา

วันนี้ (23 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า นักวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการผันน้ำโขง หวั่นซ้ำเติมผลกระทบจากเขื่อน เวทีสัมมนา “ย้อนพินิจปากมูลกับการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง :แม่น้ำกับความมั่นคงทางอาหาร” ที่จัดโดย Mekong Watch ร่วมกับสาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงโครงการลดและแก้ไขผลกระทบฝายหัวนาอย่างยั่งยืน ได้นำเสนอผลงานวิจัยความหลากหลายพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงผลกระทบเขื่อนปากมูล และเขื่อนราษีไศล บทเรียนที่ต้องนำไปใช้ในการประเมินร่วมกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนตัดสินใจพัฒนาโครงการต่างๆ ในแม่น้ำโขง

 

ยูกะ คิกูชิ ผู้อำนวยการ Mekong Watch กล่าวว่า ความสมบูรณ์ของแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขงจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ในแม่น้ำมูลตั้งแต่การสร้างเขื่อนปากมูล ที่ถูกสร้างบริเวณปากแม่น้ำมูลก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง เมื่อปี2533 แล้วเสร็จ 2537 ผ่านมา กว่า 26 ปี ยังคงมีการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไปไม่สามารถหาปลาได้เหมือนเมื่อก่อน จึงเรียกร้องให้มีการเปิดประตูเขื่อนถาวร แต่ปัญหาของชาวปากมูลยังไม่ถูกแก้ไข ในขณะที่โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอย่างเขื่อนดอนสะโฮงกำลังเดินหน้า และยังมีเขื่อนบนแม่น้ำเซซาน เซโปก และเซโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาที่เกิดจากที่ราบสูงทางตอนกลางของเวียดนาม และเทือกเขาภูหลวงในประเทศลาว ก่อนไหลรวมกันมากลายเป็นแม่น้ำโขง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ซึ่งได้รับผลกระทบแล้วในฐานะเป็นประเทศปลายน้ำโขง

 

ยูกะบอกต่อว่า ขณะนี้ในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขามีแผนที่จะพัฒนาโครงการต่างๆ มากกว่า 30 โครงการจากการผลักดันของรัฐบาลทุกประเทศในลำน้ำโขง ซึ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้า แต่ความสำคัญในประเด็นผลกระทบต่อระบบนิเวศและพันธุ์ปลาที่หลากหลาย ยังไม่ถูกให้ความสำคัญมากนักและยังไม่มีการพูดถึงในระดับนโยบาย ทั้งที่ผ่านมามีงานวิจัยที่ศึกษาถึงผลกระทบจำนวนมาก ขณะที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเพราะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเพราะทุกโครงการเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลทั้งสิ้น

ด้านรศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การแก้ปัญหาปากมูลต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการมาแก้ เพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเรื้อรังมายาวนาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำการศึกษาลกระทบ และผลของการศึกษาเป็นที่ยอมรับว่า เขื่อนมีผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมรับข้อเสนอของมหาวิทยาลัยที่เสนอทางเลือกที่ดีที่สุด คือการเปิดประตูระบายน้ำเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อสังเกตการณ์แต่กลับตัดสินใจเปิดประตูเขื่อนเพียงระยะเวลา 4 เดือนแทน ซึ่งไม่ใช่ การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่กลับกลายเป็นปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า

 

“ขณะนี้การแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่นำเอาข้อมูลวิชาการมาใช้ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนจำเป็นต้องมีข้อมูลทางวิชาการมาร่วมด้วย นอกจากนี้ภาครัฐควรนำกรณี เขื่อนปากมูล และเขื่อนราษีไศลมาเป็นบทเรียน ก่อนที่จะตัดสินใจพัฒนาโครงการต่างๆ ในแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองในการนำไปประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมองให้ลึกถึงวิถีชีวิตและระบบนิเวศ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมากมายร่วมด้วย” ดร.กนกวรรณกล่าว

 

จากนี้ยังมีข้อเสนอด้วยว่า การแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควรให้เปิดเขื่อนถาวร เนื่องจาก ขณะนี้กฟผ ได้ กำไรจากการผลิตไฟฟ้า ที่สามารถส่งคืนให้กับธนาคารโลก ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อ และขอให้ภาครัฐ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนมาอย่างยาวนาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีเสวนายังมีข้อเสนอให้ภาครัฐทบทวนโครงการผันน้ำโขง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง พี่กำลังผลักดันอยู่ขณะนี้ จะส่งผลกระทบไม่ต่างกับการสร้างเขื่อนในแม่น้ำ ที่เป็นบทเรียน จากเขื่อนปากมูลและเขื่อนราษีไศล เขื่อนราษีไศลก็เป็น 1 ใน 13 เขื่อนภายใต้แผนารพัฒนาของกรมชลประทานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำโขงชีมูล

 

ผู้เข้าร่วมในเวทีนี้ สะท้อนว่า การก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำมูล รัฐบาลไม่ได้แสดงความจริงใจ เพราะก่อนมีการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล มีการชี้แจงกับชาวบ้านว่าเป็นเขื่อนยาง แต่เมื่อมีการก่อสร้างกลับเป็นเขื่อนคอนกรีตที่ปิดกั้นลำน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบต่อ พื้นที่ชุ่มน้ำปากบุ่งป่าทามพื้นใหญ่ในแม่น้ำมูล แม่น้ำและป่าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลยังเรียกร้องให้มีการเปิดประตูเขื่อนอย่างถาวร เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปลาและระบบนิเวศให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ชาวบ้านในลุ่มน้ำมูลจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแต่อย่างใดมีความพยายามในการฟื้นฟูทรัพยากรปลาด้วยตัวเอง ด้วยการจัดตั้งส่งเสริมเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ในพื้นที่ของตัวเอง ในขณะที่ยังมีโครงการอีกหลายแห่งที่กำลังเดินหน้าในลุ่มน้ำโขงซึ่งจะต้อง ใช้บทเรียนจากแม่น้ำมูลในการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

 

เสาวนีย์ นิ่มปานพยุงวงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง