หนทาง “เด็กเล่นเกม” สู่สนามแข่ง “นักกีฬา อี-สปอร์ต” สร้างตัวตน-รายได้-อาชีพ

ไลฟ์สไตล์
23 ก.พ. 59
23:25
1,356
Logo Thai PBS
หนทาง “เด็กเล่นเกม” สู่สนามแข่ง “นักกีฬา อี-สปอร์ต” สร้างตัวตน-รายได้-อาชีพ
เปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้ผู้ปกครอง-สังคมไทย เมื่อเกมกลายเป็นอุตสาหกรรมหรือ “อี-สปอร์ต” ที่มีมูลค่ามากกว่าแวดวงฮอลลีวูด โดยรางวัลผู้ชนะสูงสุดในปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านบาท ขณะที่เยาวชนไทยหลายคนสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ และหอบเงินรางวัลกลับบ้านแล้วไม่น้อย

เมื่อมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หนึ่งในจำเลยที่มักจะถูกเอ่ยขึ้นเพื่อกล่าวโทษคือ “เกมคอมพิวเตอร์” ทั้งเรื่องความรุนแรง ติดเกมจนหนีเรียน กระทั่งหนีออกจากบ้าน รายการศิลป์สโมสรชวนพูดคุยอีกด้านของเกมกับอดีตเด็กติดเกม ที่ผันตัวมาเป็นกูรูด้านเกม สร้างชื่อ สร้างรายได้ จากเกม

กานดา แย้มบุญเรือง พิธีกรรายการร่วมพูดคุยกับ พี่แว่น-ชนิกนันท์ ทิพย์ไพโรจน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ FPS Thailand.com และ อาร์ต-วีระศักดิ์ บุญชู นักกีฬา อี-สปอร์ต


ปัจจุบันการเล่นเกมพัฒนาเป็นกีฬาอี-สปอร์ต (E-Sport) อยากรู้ว่าคืออะไร

พี่แว่น : อี-สปอร์ต คืออิเล็กทรอนิกส์ สปอร์ต ถือเป็นกีฬาในร่ม ซึ่งในเกาหลีใต้กำลังนิยม เช่น หมากรุก แต่ปัจจุบันได้บรรจุเกมเข้าไป ซึ่งการเล่นเกมอี-สปอร์ตเป็นการแข่งขันที่มีเงินรางวัลเป็นเป้าหมายเพื่อให้คนจริงจังมากขึ้น ปัจจุบันยอดเงินรางวัลที่สูงที่สุดคือ 400 ล้านบาท ขณะที่รางวัลรวมทั้งหมด 16 ตำแหน่ง มูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 630 ล้านบาท

การเติบโตของ อี-สปอร์ต ในประเทศไทยเป็นอย่างไร

พี่แว่น : กีฬา อี-สปอร์ตในบ้านเราเติบโตไว โตตามอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ที่ไหนอินเตอร์เน็ตเข้าถึงเรื่องเกมก็โตตาม แต่ไทยยังอยู่ช่วงเริ่มต้น ยังเป็นผู้ตามประเทศที่ทำมานาน

อาร์ต : แม้ไทยยังตามอยู่ แต่ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการพัฒนาก้าวกระโดด โดยมาจากการที่ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน มองเห็นความสำคัญมากขึ้น และผลักดันให้การเล่นเกมแบบกีฬาออกมาในภาพลักษณ์ที่ดี

การเล่นเกมจนกลายเป็นกีฬาที่แข่งขันได้ในระดับโลก มีวิธีการเล่นอย่างไร

พี่แว่น : คำถามนี้ทำให้เราต้องกลับมามองสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาคนมักมองว่าเกมก็คือเกม แต่จริงๆ เกมเป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง และอี-สปอร์ตก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองนั้น ในเกาหลีใต้ถือว่าเกมเป็นอุตสาหกรรมหลัก นักกีฬาอี-สปอร์ตต่างจากคนเล่มเกมทั่วไปตรงที่หลังจากเล่นเกมเสร็จแล้วจะมีการซ้อมทีม หรือพูดคุยกับโค้ชและทีมว่าแผนที่เล่นดีมั้ย แทกติกนี้เป็นอย่างไร

 

อาร์ต : การเล่นเกมทั่วไปต่างจากการเล่นแบบ อี-สปอร์ต ตรงที่การเล่นเกมทั่วไปที่กลับจากการทำงานหรือเรียนจะเน้นการพักผ่อน แต่ อี-สปอร์ต คือการฝึกฝน การแบ่งเวลา การสร้างวินัยให้ตัวเอง รวมถึงการทำทีม และลงแข่งขันเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง 

ในอุตสหกรรมเกม อี-สปอร์ต ประกอบด้วยคนหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ใช่แค่คนเล่นเกม

พี่แว่น : ใช่ครับ อุตสาหกรรมนี้รวมไปถึงนักออกแบบเกม นักจัดอีเวนต์ต่างๆ และตอนนี้เม็ดเงินที่วนอยู่ในระบบของอุตสาหกรรมเกม แซงหน้ารายได้จากวงการฮอลลีวูดไปแล้ว อุตสาหกรรมเกมจึงได้รับความนิยมมากขึ้น

แวดวง อี-สปอร์ต ของไทยพัฒนาไปถึงระดับไหน และมีใครไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศแล้วบ้าง

พี่แว่น : บุคลากรในอุตสาหกรรมเกมของบ้านเรายังน้อยอยู่ เดินผ่านก็จำหน้ากันได้
แต่มีน้องๆ ไปสร้างชื่อที่ต่างประเทศหลายปีแล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยเป็นข่าว เช่น แชมป์โลกเกมแร็กนาร็อก (Ragnarok) แชมป์โลกเกมพอยต์ แบลงค์ (Point Blank) สองสมัยในปี 2011 และ 2015 ที่อินโดนีเซีย แชมป์โลกเกมสเปเชียล ฟอร์ซ (Special Force) แชมป์เกมเอ็กซ์-ช็อต (X-Shot) และรองแชมป์โลกการ์ดต่างๆ มีเงินรางวัลมากมาย อย่างพอยต์ แบลงค์ที่อินโดนีเซีย ผู้ชนะได้เงินรางวัลเกือบ 2 ล้านบาท

รางวัลที่ได้รับมากที่สุดตลอดที่อยู่ในวงการเกมมานานกว่า 10 ปี จำนวนได้เท่าไหร่

อาร์ต : ผมได้รางวัลสูงสุดคือ 200,000 บาท ประเภทแข่งทีมกับเกมฟีฟาออนไลน์ แต่ถ้าในนามสังกัดทีม มีสมาชิกไปได้รางวัลจากต่างประเทศมาร่วม 1 ล้านบาท นอกเหนือจากรางวัล ยังมีประสบการณ์ที่ได้ประลองฝีมือกับนักอี-สปอร์ตต่างประเทศด้วย

เยาวชนที่เล่นเกมมีอยู่เยอะ แต่ทำไมคนเข้าสู่วงการ อี-สปอร์ต กลับมีจำนวนไม่มาก

พี่แว่น : คนที่ประสบความสำเร็จใน อี-สปอร์ต ของไทยมีจำนวนน้อย แม้จะมีหลายทีม หลายสังกัดที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวงการนี้เพิ่งเริ่มต้น และยังต้องการการผลักดันจากทุกภาคส่วน แต่ไม่ใช่รอให้ผู้ใหญ่มาสนับสนุนโดยที่ตัวเองไม่ทำอะไรเลย เราต้องทำให้ผู้ใหญ่เห็น เช่น ฝึกฝนให้ได้แชมป์เงินรางวัล 400 ล้านบาท ถึงตอนนั้น ผู้ใหญ่น่าจะมองเห็นอะไรบางอย่างในวงการเกมบ้าง

อาร์ต : เราเริ่มต้นกันค่อนข้างช้า ถ้าเทียบกันต่างประเทศที่เริ่มมาแล้ว 10 ปี เราเพิ่มเริ่มมาแค่ 3-5 ปี ซึ่งก็ไม่ได้โทษใคร ยังจำได้ว่าวันที่ได้เงินรางวัล 200,000 บาทกลับบ้าน แม่ของผมมีมุมมองต่อเกมเปลี่ยนไป จากเสียงแข็งๆ ก็กลายเป็นเสียงอ่อนทันที และตอนนี้ผมก็พัฒนาตัวเองมาอยู่ในส่วนของเบื้องหลังด้วย เช่น กลายเป็นผู้สร้างหรือผู้จัดการแข่งขัน

พี่แว่น : วงการเกมไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเก่ง ถ้าชอบเกมแต่เล่นเกมไม่เก่งก็มีอีกหลายอาชีพให้ทำได้ เช่น คนแนะนำเกมขณะเล่น คนพากย์เกมระหว่างแข่งขัน ทำเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเกม หรือทำคลิปรีวิวสินค้าเกี่ยวกับเกมในยูทูป ผมก็เริ่มต้นจากศูนย์และเป็นคนที่เล่นเกมไม่เก่งก็ทำอย่างอื่นแทน

แต่เมื่อเวลาเกิดปัญหากับเด็กและเยาวชน มักจะมีการโทษว่าเกมเป็นส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังความรุนแรง แท้จริงแล้วเกมมีส่วนจริงหรือไม่

พี่แว่น : ยอมรับว่าเกมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา อย่างเกมจีทีเอ (GTA) มีเนื้อหารุนแรง ไม่เหมาะที่เด็กจะเล่น แต่ต่างประเทศมีการกำหนดอายุของผู้เล่นว่าผู้ปกครองต้องตรวจสอบก่อนอนุญาตให้บุตรหลานเล่น แต่ไทยยังไม่มีการจัดเรทติ้งเกม ทำให้เยาวชนเข้าถึงได้หมดและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งการซื้อหรือโหลดมาลองเล่น

อาร์ต : พอเข้าถึงได้ง่าย เวลาในการปิดกั้นจึงทำได้ยาก ดังนั้น อาจต้องเริ่มจากครอบครัว เมื่อซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูกก็ควรจะจัดสรรเวลาสักนิดมาอยู่กับลูกและพูดคุยกัน

พี่แว่น : อย่างครอบครัวผม พ่อแม่ไม่ได้ยอมเรื่องเล่นเกมในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ห้าม แต่จะเข้ามาพูดคุย เช่น เล่นอะไร ทำอะไร ความรู้สึกแรกๆ ของเด็กอาจรู้สึกรำคาญ แต่หลังๆ รู้สึกว่าพ่อแม่ใส่ใจ

ถ้าผู้ปกครองพบบุตรหลานเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงเช่น ยิงกันตาย ควรทำอย่างไร

อาร์ต : ผู้ปกครองอาจจะยังไม่ต้องไม่ถามหรือพูดคุยกับเด็กขณะที่เล่นเกมโดยทันที แต่อาจหาเวลาสบายๆ เช่น ตอนทานข้าวหรือออกมาเที่ยวข้างนอกถามว่าเกมนี้เป็นอย่างไร ซึ่งจะดีกว่าการเข้าไปดุด่าหรือห้ามเล่นทันที เพราะยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ควรให้ความเข้าใจมากกว่าไปปิดกั้น

พี่แว่น : การตีก็ไม่ช่วยส่งผลดีอะไร ถ้าผมเป็นผู้ปกครองจะชวนลูกเล่น เพื่อจะได้รู้ว่าเกมนี้เป็นอย่างไร

ควรเล่นเกมอย่างไรไม่ให้เกมกลับมาทำร้ายทำตัวเรา
พี่แว่น : ที่จริงเกมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เล่นเพื่อความสนุก แต่สำหรับนักกีฬา อี-สปอร์ต เขาเล่นเพื่อการแข่งขัน เล่นเพื่อชิงเงินรางวัล หรือย้ายไปอยู่กับสังกัดใหญ่ในต่างประเทศ หรือเล่นเพื่อไปเป็นนักพัฒนาเกม ผมมองว่าการเล่นเกมต้องมีเป้าหมาย แต่ระหว่างทางจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าคุณจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร ถ้าเล่นเพื่อสนุกก็คือเป้าหมายอย่างหนึ่งได้ แต่ควรเล่นเพื่อความสนุกอย่างถูกต้อง

ขอคำแนะนำสำหรับเยาวชนหรือครอบครัวของผู้ที่อยากมีอาชีพใน อี-สปอร์ต

พี่แว่น : ต้องมีวินัย คำนี้เป็นหัวใจของความสำเร็จของคนในทุกวงการ การเป็นนักเล่นเกมที่มีวินัย เวลาทำอะไรจะผิดพลาดน้อยที่สุด

อาร์ต : วงเกมเมืองไทยที่ยังไม่สามารถก้าวไปถึงการทำเป็นอาชีพหลักได้ มองว่าเร็วๆ นี้ ยังเป็นเรื่องยาก น้องๆ จำเป็นต้องมีในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง