อดีต รมช.ศึกษาธิการชี้เด็กหลุดจากระบบการศึกษากระทบจีดีพีร้อยละ 1-3 ชง 2 มาตรการแก้ปัญหา

สังคม
24 ก.พ. 59
12:03
190
Logo Thai PBS
อดีต รมช.ศึกษาธิการชี้เด็กหลุดจากระบบการศึกษากระทบจีดีพีร้อยละ 1-3 ชง 2 มาตรการแก้ปัญหา
อดีต รมช.ศึกษาธิการเผยองค์การยูเนสโกระบุเด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษากระทบต่อรายได้และความเสียหายทางเศรษฐกิจร้อยละ 1-3 ของจีดีพี พร้อมเสนอ 2 มาตรการ ปฏิรูประบบฐานข้อมูล และจัดสรรงบประมาณเฉพาะลงไปแก้ไขปัญหา

วันนี้ (24 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานประชุม "นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาแห่งเอเชีย" เดินหน้าโรดแม็ปแห่งเอเชีย พาเด็กนอกระบบ 18 ล้านคนคืนสู่ระบบการศึกษา ภายในปี ค.ศ.2030 โดยนายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโก เปิดเผยว่า ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีเด็กและเยาวชนจำนวน 337 ล้านคนที่อยู่ในโรงเรียนและมีเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือมากกว่า 17 ล้านคน

ทั้งนี้ ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษามีมาตลอด 50 ปี โดยสาเหตุหลักมาจากไม่มีการวางนโยบายที่ชัดเจน ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกล้วนลงทุนเรื่องการศึกษา โดยจัดสรรงบประมาณถึงร้อยละ 46 ให้กับการศึกษา แต่กลับไปไม่ถึงเด็กยากจน มีเพียงเด็กบางกลุ่มเพียงร้อยละ10 ที่ได้ประโยชน์จากระบบการศึกษา

ด้าน รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ข้อมูลขององค์การยูเนสโกปี 2556 พบว่ามีเด็กวัยประถมศึกษาของไทยที่หลุดจากระบบการศึกษากว่า 300,000 คน ซึ่งจะส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 1-3 ของจีดีพี

อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาควรดำเนินการตาม 2 มาตรการสำคัญ คือการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อติดตามเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคลแบบ Real-time เพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณและการวางมาตรการที่มีประสิทธิภาพด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมา มีการจัดสรรงบประมาณลดความเหลื่อมล้ำแก่เด็กเยาวชนด้อยโอกาส แต่ไม่ตรงประเด็นปัญหา ไปไม่ถึงตัวเด็กเยาวชนที่ยากจนอย่างแท้จริง และยังพบว่าจังหวัดที่ยากจนได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ มากกว่า 2 เท่า

นอกจากนี้ การมีนวัตกรรมการคลังเพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างยั่งยืนในการแก้ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ด้วยการตั้งกองทุนการศึกษา เพื่อขจัดปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาด้วยภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกทำ โดยไม่กระทบต่อวินัยการคลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง