"ชวลิต" เรียกร้อง คสช.จัดเลือกตั้งปีนี้ เปิดทางรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

การเมือง
25 ก.พ. 59
11:40
162
Logo Thai PBS
"ชวลิต" เรียกร้อง คสช.จัดเลือกตั้งปีนี้ เปิดทางรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ทางสายกลางสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ และให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2559 เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

วันนี้ (25 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชน โดยเรียกร้องให้ คสช.ไตร่ตรองหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาประเทศด้วยการเดินสายกลาง สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ และเสียสละอำนาจส่งต่อให้แก่คณะกรรมการกลางที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ให้มีการบริหารจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2559 เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งเห็นว่าทหารควรทำหน้าที่รั้วของชาติในการดูแลด้านความมั่นคงต่อไป

พล.อ.ชวลิต เปิดเผยถึงการทำประชามติรัฐธรรมนูญว่า ควรใส่ประเด็นคำถามต่อประชาชนเรื่องการทำหน้าที่ต่อของ คสช.ว่าควรอยู่ต่อหรือไม่ โดยมองว่าทหารควรรู้จักบทบาทหน้าที่ของทหาร และไม่ใช่หน้าที่ของทหารที่จะเสนอข้อคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญ เพราะอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง และหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลจาก คสช.ควรถอนตัวให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แก้ไขปัญหาประเทศต่อไป

ส่วนการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะผ่านความเห็นจากประชาชนหรือไม่นั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ คสช.และที่สำคัญต้องป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามอย่างเช่นการปฏิวัติชาวนาไทย โดยรัฐบาลต้องหาแนวทางที่ให้ได้รัฐธรรมนูญที่จะไม่ถูกฉีกอีก

พล.อ.ชวลิต ยังฝากข้อเสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ปัญหาแรงงาน ปัญหาข้าว ด้วยโครงการ "รถจันทร์โอชา" ที่ให้ขายอาหารในประเทศอาเซียน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ประชาชน ขณะการเคลื่อนไหวให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างประเทศของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจเพราะความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง โดยเสนอให้นายทักษิณช่วยคนยากจนด้วยการหาตลาดข้าวให้ประเทศไทย

สำหรับการเสนอแนะครั้งนี้ด้วยเจตนาที่ดี ต้องการช่วยให้ประเทศผ่านวิกฤตไปได้ ควรปรับโครงสร้างทางการเมืองให้เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สร้างอำนาจให้ประชาชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง