"แชด สก็อตต์" นักวิจัยปะการังผู้ป่วยลูคิเมีย ขอบคุณคนไทยช่วยบริจาคเลือด

สังคม
25 ก.พ. 59
15:14
893
Logo Thai PBS
"แชด สก็อตต์" นักวิจัยปะการังผู้ป่วยลูคิเมีย ขอบคุณคนไทยช่วยบริจาคเลือด
"แชด สก็อตต์" นักวิจัยปะการังชาวอเมริกันวัย 31 ปี ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว โพสต์คลิปวิดีโอขอบคุณคนไทยที่ช่วยรณรงค์บริจาคเลือดกรุ๊ป A RH Negative ซึ่งเป็นกรุ๊ปเลือดหายาก

วันนี้ (25 ก.พ.2559) เฟซบุ๊ก "Chad Michael Scott, a good man in need of help" ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่แชดกล่าวขอบคุณคนไทยที่ช่วยกันรณรงค์รับบริจาคเลือดให้เขาเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยแชดบอกว่าเขาอยู่ประเทศไทยมา 10 ปีแล้ว และรักประเทศไทยมาก

"ผมรักประเทศไทยมากเลย ผมอยากอยู่ที่นี่ ผมอยู่ที่เกาะเต่า เป็นนักวิจัยปะการัง ช่วยฟื้นฟูปะการังมาประมาณ 10 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2559 ผมได้รู้ว่าผมเป็นลูคิเมีย และผมเห็นว่าทุกคนช่วยผมเยอะมากเลย ผมไม่คิดว่าทุกคนจะช่วยผมเยอะขนาดนี้ ขอบคุณคนในโซเชียลมีเดียและอยากขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคนที่เกาะเต่าที่ช่วยเหลือผมเยอะมาก รวมทั้งหมอและพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ด้วยที่ให้ผมอยู่ที่นี่ ผมโชคดีมาก ขอบคุณทุกคนที่ประเทศไทย" แชดกล่าวในคลิปซึ่งมีความยาวประมาณ 2 นาที

 
แชดขอบคุณคนไทย

แชดขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ให้ความช่วยเหลือมาอย่างมากมาย ด้วยตัวเอง ขอบพระคุณคนไทยทุกคนค่ะ

Posted by Chad Michael Scott, a good man in need of help on Wednesday, 24 February 2016

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์ได้ช่วยกันส่งต่อข้อมูลขอรับบริจาคเลือดกรุ๊ป A RH Negative ซึ่งเป็นกรุ๊ปเลือดหายากเพื่อช่วยเหลือแชดอย่างกว้างขวาง เรื่องราวของแชดได้รับความสนใจเพราะตลอด 10 ปีที่อยู่ประเทศไทย เขาคือกำลังสำคัญในการปกป้องแนวปะการังบริเวณเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี จากสภาพที่ทรุดโทรม อยู่ในขั้นวิกฤต จนสามารถอยู่รอดและสมบูรณ์ จนกลายเป็นต้นแบบให้อีกหลายพื้นที่ในอ่าวไทย

แชดเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แต่เมื่อได้ลองดำน้ำและเห็นความเสื่อมโทรมของปะการัง แชดตัดสินใจอยู่ที่เกาะเต่านับตั้งแต่นั้น

เขาจริงจังกับการทำงานเชิงอนุรักษ์เริ่มต้นตั้งแต่ดำน้ำไม่เป็น จนพัฒนากลายเป็นครูสอนดำน้ำ บวกกับการใช้ความรู้ทางชีววิทยาทำให้แชดกลายเป็นครูสอนดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ นอกจากนั้นเขาจับมือกับหลายหน่วยงาน และทำงานร่วมกับนักวิชาการทางทะเลหลายคน จนสามารถฟื้นฟูแนวปะการังให้สมบูรณ์ กลายเป็นต้นแบบการอนุรักษ์ปะการังให้อีกหลายพื้นที่

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้หนึ่งที่ทำงานร่วมกับแชดมานานหลายปี เขาบอกว่าแชดเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการทำงานอนุรักษ์ที่เกาะเต่า

"เราช่วยกันตั้งแต่สำรวจแนวปะการังรอบเกาะเต่า ประเมินสถานภาพปะการัง ต่อมาก็มีการทำโครงการฟื้นฟูแนวปะการัง ให้ความรู้นักท่องเที่ยวและเยาวชนบนเกาะ ด้วยความที่แชดเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขามีความคิดที่เป็นระบบ มีความรู้ด้านการอนุรักษ์และการจัดการแนวปะการังที่ถูกต้องและเขาอยู่ในพื้นที่ตลอด ลงน้ำทะเลทุกวัน ตื่นมาก็เห็นทะเล เขาจึงมีความรู้เกี่ยวกับปะการังที่เกาะเต่าดีมาก เขาอาจจะมีความรู้มากกว่านักวิชาการด้วยซ้ำไป" นายศักดิ์อนันต์กล่าว "ถึงจุดนี้ผมคิดว่าถึงเวลาที่คนไทยต้องช่วยกันดูแลแชด เพื่อเป็นการตอบแทนที่เขาได้ดูแลปะการังแทนคนไทย"

วันที่ 13 ก.พ.2559 แพทย์ตรวจพบว่าแชดเป็นลูคีเมีย ต้องได้รับเลือด แต่เนื่องจากเขามีหมู่เลือดหายาก คือ A RH Negative ซึ่งในคนไทย พบเพียง 3 ใน 1,000 คน ทำให้ผู้คนที่รู้จักเขา ต่างช่วยกระจายข่าว ขอความช่วยเหลือให้ชายคนนี้

ขณะนี้แชดรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และต้องได้รับเลือด โดยสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย วันจันทร์ และศุกร์ 8.00-16.30 วันอังคาร พุธ พฤหัสบดี 7.30-19.30 และเสาร์อาทิตย์ 8.30-15.30 น. และเนื่องจากเป็นหมู่โลหิตหายาก A RH Negative การบริจาค จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ป่วยหมู่โลหิตนี้อีกหลายคน ที่รอรับเลือดหมู่นี้คนอื่นๆ ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง