"ทีดีอาร์ไอ" ชี้ กสทช.ไม่ควรชง คสช.ใช้ ม.44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล

เศรษฐกิจ
26 ก.พ. 59
12:45
169
Logo Thai PBS
"ทีดีอาร์ไอ" ชี้ กสทช.ไม่ควรชง คสช.ใช้ ม.44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล
ประธานทีดีอาร์ไอชี้ กสทช.ไม่ควรชง คสช.ใช้ ม. 44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล แนะแก้กฎหมายเปลี่ยนมือการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการ เปิดทางแก้วิกฤต

วันนี้ (26 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีคณะทำงานแก้ไขปัญหาคูปองทีวีดิจิทัล ที่มีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เป็นประธาน และมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ร่วมเป็นคณะทำงาน ที่มีแนวทางเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล ไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาตามข้อเสนอข้อผู้ประกอบการ เช่น การให้เลื่อนจ่ายค่าธรรมเนียมเงินประมูลทีวีดิจิทัลงวด 3 มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท รวมทั้งการขอให้ขยายอายุใบอนุญาตประกอบกิจการออกไป และประเด็นไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลงวดที่เหลือ หากผู้ประกอบกิจการต้องการยกเลิกทำช่องทีวีดิจิทัล

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังมีแนวทางเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา มีทางเลือกด้วยการ การแก้กฏหมายเพื่อเปลี่ยนมือให้รายอื่นเข้ามาถือใบอนุญาตประกอบกิจการได้ เนื่องจากหาก กสทช.เลือกใช้วิธีพิเศษ เพื่อทำให้ผู้มีอำนาจ ใช้มาตรา 44 จะทำให้เกิดความรับผิดชอบทางกฎหมายตามมาอีกมากต่อ กสทช.

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การกำกับดูแลตลาดสื่อที่ดี ต้องรู้ว่ามันมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ในการทำธุรกิจสื่อ แต่หากดึง ม.44 เข้ามาแก้ปัญหาทุกเรื่อง จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อธุรกิจนี้ และการประกอบกิจการ ส่งผลทำให้เห็นถึงการแก้ปัญหาแต่เพียงระยะสั้น หรือเฉพาะหน้า แต่จะกระทบต่อการแก้ปัญหาในระยะยาวที่จะไม่มีความแน่นอน อย่างน้อยๆ ทางเลือกที่ให้แก้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนมือการถือครองใบอนุญาต จะทำให้ผู้ประกอบการรายเก่าที่อยากจะออก และผู้ประกอบการรายใหม่ที่อยากจะเข้าสู่ตลาดทีวีดิจิทัล สามารถทำได้คล่องมากขึ้นในช่วงที่หายใจลำบากในขณะนี้

ทั้งนี้ กสทช.ควรใช้กลไกในการกำกับดูแล การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสัญญาณการออกอากาศ หรือสามารถรับชมสัญญาณภาพทีวีดิจิทัลได้รวดเร็วมากขึ้น การประชาสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ การกำกับดูแลค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.กล่าวว่า กรณีการให้เปลี่ยนมือการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เห็นด้วยหากมีการแก้ไขกฎหมาย แต่หากแก้แล้วไม่ใช่ประเด็นที่นำไปสู่ให้ผู้ประกอบการนำใบอนุญาตไปขายได้ ซึ่งตอนนี้ กสทช.เปิดโอกาสให้เทคโอเวอร์ และเปลี่ยนชื่อบริษัทได้ด้วย แต่ต้องไม่เกินกติกาการประมูลเดิม เป็นความยืดหยุ่นระดับหนึ่ง แต่หากจะต้องขายใบอนุญาตกันถึงขั้นนั้น ก็ต้องใช้วิธีประมูลเท่านั้น ต้องไม่ใช่ในรูปแบบเสนอตามความพึงพอใจ (บิวตี้คอนเทส)

นายวิชิต เอื้ออารีย์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญ เคเบิ้ลทีวี กล่าวว่า หาก กสทช.จะใช้ ม.44 หรือ มีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ทั้ง 24 ช่อง ก็ควรจะมีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มทีวีดาวเทียม หรือเคเบิ้ลด้วย ซึ่งไม่ใช่การเลือกปฏิบัติอย่างอย่างหนึ่ง ซึ่งหาก กสทช.ช่วยผู้ประกอบกลุ่มดาวเทียม เคเบิ้ลได้ เช่น การลดค่าธรรมเนียม หรือไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง