“พล.ท.นักรบ” กางแผนพูดคุยสันติสุข 3 ปี แนะปรับทั้งความยุติธรรม-ศก.-การศึกษา

ภูมิภาค
26 ก.พ. 59
14:43
448
Logo Thai PBS
“พล.ท.นักรบ” กางแผนพูดคุยสันติสุข 3 ปี แนะปรับทั้งความยุติธรรม-ศก.-การศึกษา
เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กางแผนแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ แผน 3 ปีสู่การลงนามสัตยาบันและจัดทำโรดแมป ระบุการพูดคุยคืบหน้า แต่ยังต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความไว้วางใจ เตรียมคุยรอบหน้าต้นเดือนมีนาคม 2559

พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อธิบายถึงการสร้างความเข้าใจในกระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และมีความเข้าใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกรอบการพูดคุยสันติสุขที่วางไว้ 3 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

1.การสร้างความไว้วางใจ ที่กำหนดไว้ในช่วงเดือน ม.ค.- ธ.ค.2558

2.การลงนามในสัตยาบัน ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.2559

3.การจัดทำโรดแมปในช่วงเดือน ก.ค. 2559 – ธ.ค.2560

ทั้งนี้กระบวนการพูดคุยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรกคือ ขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจ ที่ล่วงเลยจากกำหนดการที่วางไว้เล็กน้อย จึงยังไม่อาจดำเนินการในระยะที่ 2 ได้เพราะต้องเพิ่มเวลาในการสร้างความไว้วางใจในส่วนนี้ต่อไป โดยอาจจะมีการปรับกรอบเวลาในระยะที่ 2 คือการลงนามในสัตยาบันให้สั้นลงจาก 6 เดือนเหลือ 2 เดือน แต่กระบวนการทุกอย่างยังคงอยู่ในกรอบเดิมในระยะเวลา 3 ปี

"ในขั้นตอนของการสร้างความไว้วางใจยังต้องใช้เวลา เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาการเมืองภายใน ทำให้ติดขัดไปบ้าง แต่ขณะนี้ทุกอย่างดำเนินไปได้ การพูดคุยช่วงแรกยังมีความไม่เข้าใจ แต่ขณะนี้ก็พูดคุยและเสนอปัญหากันมากขึ้น และมีการตั้งคณะกรรมการเทคนิคที่ช่วยกำหนดกรอบการพูดคุยกันในครั้งต่อไปในช่วงเดือนมีนาคมนี้"

เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กล่าวว่า ในระยะของการทดสอบและสร้างความไว้วางใจนี้ รัฐบาลขอความร่วมมือให้ลดจำนวนการก่อความไม่สงบลงในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาซึ่งถือว่าได้ผลค่อนข้างดี ในขั้นต่อไปอาจมีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ "เซฟตี้ โซน" แต่ต้องคุยกันอีกครั้งถึงรายละเอียดว่าจะดำเนินการในพื้นที่ใดบ้าง

ขณะที่ฝ่ายไทยก็แสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน กล่าวคือ การสั่งพักโทษนายหะยีสะมะแอ สุหลง หรือ "สะมะแอ ท่าน้ำ" อายุ 63 ปี อดีตแกนนำขบวนการพูโล ที่ได้รับการปล่อยตัวในเดือนกรกฎาคม 2558 หลังถูกคุมขังนาน 18 ปี รวมทั้งการสั่งพักโทษนายนายดาโอ๊ะ มะเซ็ง หรือ "หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ" อายุ 58 ปี อดีตหัวหน้ากลุ่มพูโล โดยปล่อยตัวเมื่อเดือนกันยายน 2558 หลังถูกคุมขังนานกว่า 17 ปี รวมถึงยังพักโทษผู้ต้องขังรายอื่นอีก 4 คนด้วย

 

 

อย่างไรก็ตาม พล.ท.นักรบกล่าวว่าก่อนจะก้าวไปถึงระยะที่ 2 คือ การลงสัตยาบันนั้นยังต้องมีการทดสอบกันอีกหลายครั้ง ซึ่งข้อเรียกร้องที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถดำเนินการร่วมกันได้จะมีความชัดเจนมากขึ้น จากนั้นจึงมีการวางโรดแมป โดยอาศัยความร่วมมือจาก 3 ส่วนหลัก คือ

1.กลุ่มสันติวิธีทางการ (Track 1) ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และรัฐบาล

2.กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Track2) ได้แก่ กลุ่มปัญญาชนและเยาวชน กลุ่มผู้นำศาสนา เครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายชาวไทยพุทธ นักการเมือง นักธุรกิจ สื่อมวลชน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ กลุ่มผู้ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ กลุ่มสตรี

3.กลุ่มรากหญ้า (Track3) ได้แก่ ชุมชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่

"ในการพูดคุยสร้างความไว้วางใจนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ฝ่ายที่ขัดแย้งกันมาพูดคุยกัน ตัวอย่างเช่นหลังจากการพูดคุยครั้งล่าสุดที่ประเทศมาเลเซีย สำนักประชาสัมพันธ์กลุ่มบีอาร์เอ็น โดยนายอับดุลการิม คาลิบ ได้แถลงจุดยืนไม่ไว้วางใจกระบวนการพูดคุยสันติสุขผ่านยูทูป (กันยายน 2558) ซึ่งเราก็อยู่ในช่วงทดสอบทางฝ่ายตัวแทนผู้พูดคุยว่าจะมีการจัดการกันเองอย่างไร" พล.ท.นักรบกล่าวและได้หยิบยกข้อมูลของ "มาราปาตานี" ซึ่งเป็นองค์กรร่มของฝ่ายผู้เห็นต่างที่ร่วมในกระบวนการพูดคุยที่พบว่า ร้อยละ 50 ของ "ผู้เห็นต่าง" เห็นด้วยกับความพยายามในการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ร้อยละ 30 อยู่ตรงกลางรอดูท่าทีของรัฐบาล และอีกร้อยละ 15 -20 ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย

ในการพูดคุยสร้างความไว้วางใจนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ฝ่ายที่ขัดแย้งกันมาพูดคุยกัน

พล.ท.นักรบกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายองค์ประกอบ ทั้งจากเหตุการณ์ในอดีต กรณีการหายสาบสูญของนายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ "หะยีสุหลง โต๊ะมีนา" โต๊ะอิหม่ามซึ่งเป็นผู้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อที่ให้ความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่ต่อรัฐบาลไทย หะยีสุหลงหายตัวไปเมื่อปี 2498 หรือกว่า 60 ปีมาแล้ว และเหตุปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 จนถึงการสลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547

สำหรับกรณีที่มีบางฝ่ายตั้งคำถามว่ากลุ่มผู้เห็นต่างทั้ง 6 กลุ่มที่ร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ซึ่งประกอบด้วย บีอาร์เอ็น, พูโล 3 กลุ่มย่อย, บีไอพีพี และจีเอ็มไอพี ว่าเป็น "ตัวจริง" หรือไม่นั้น พล.ท.นักรบยืนยันว่าเป็นตัวจริงทั้งหมดและยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมาก แต่ยอมรับว่าในพื้นที่ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ด้วยซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้พูดคุยและรับฟังข้อเรียกร้องของทุกกลุ่มมาพูดคุยในการประชุมครั้งหน้า

เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการแก้ไขด้านความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรม ต้องแก้ปัญหาในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยเช่น การพิจารณายกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ ด้วยการเดินหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่อยู่ระหว่างการดึงธุรกิจ SMEs เข้ามาในพื้นที่รวมถึงอีกปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ปัญหามาตรฐานการศึกษาซึ่งยังมีมาตรฐานไม่ดีนักและจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลเหตุรุนแรงในพื้นที่ในช่วงปี 2557-2558 พบว่าลดลงกว่าครึ่ง กล่าวคือจำนวนเหตุรุนแรงลดลงจาก 530 ครั้งในปี 2557 เหลือ 58 ครั้งในปี 2558 ซึ่งการที่สถิติที่ลดลงนั้น ฝ่ายความมั่นคงถือว่าแสดงถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง