นายกฯเผย ครม.เห็นชอบโครงการแก้ภัยแล้งเร่งด่วน-ดัน ศก.ฐานรากผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

การเมือง
26 ก.พ. 59
20:30
244
Logo Thai PBS
นายกฯเผย ครม.เห็นชอบโครงการแก้ภัยแล้งเร่งด่วน-ดัน ศก.ฐานรากผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์จัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อภาคการผลิต พร้อมเห็นชอบมาตรการบรรเทาภัยแล้งระยะเร่งด่วน นอกจากนี้ยังผลักดันโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

วันนี้ (26 ก.พ.2559) เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า วันที่ 26 ก.พ.ของทุกปี เป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ" เป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมเกษตรกรรมไทย ซึ่งรัฐบาลได้ขยายผลและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรม คู่ขนานไปกับการส่งเสริมให้เป็น Smart Farmer ด้วยการผลักดันนโยบายสาธารณะอย่างเป็นระบบ ดูแลทั้งต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง เช่น เรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร เพื่อขับเคลื่อนการนำสินค้าในท้องถิ่นสู่สายตาชาวโลก หรือ Local to Global ทั้ง OTOP, 1 ตำบล 1 SME และส่งเสริมการประกอบการในลักษณะวิสาหกิจชุมชน หรือ Social Enterprise เป็นต้น

ส่วนปัญหาภัยแล้ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค ผลักดันน้ำเค็มและรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งปัจจุบันสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณรวม 39 ล้านลูกบากศ์เมตร น้อยกว่าปี 2558 จำนวน 5.3 ล้านลูกบากศ์เมตร

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำกลุ่มหลักของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหลายมาตรการ พร้อมผลักดันนโยบายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรม โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตรที่กระทรวงการคลังเสนอเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน ประกอบไปด้วย

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งปี 2558/2559 วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อไม่เกิน 12,000 บาทต่อราย กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี ไม่มีดอกเบี้ย โดยกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส. จำนวน 500,000 รายที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเป็นการชั่วคราว

(2) โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME ด้านการเกษตร วงเงิน 72,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นสินเชื่อระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคการเกษตรทั้งรายคน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือบริษัทชุมชน จำนวน 7,200 ราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าการเกษตรและกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน

(3) โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงิน 15,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อกลุ่ม กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤตภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจและตั้งใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างแท้จริงและผ่านการคัดเลือกจากชุมชน โดยจะให้ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิตและค่าจ้างแรงงานให้กับเกษตรกร

นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วน ช่วยกันประหยัด ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวไปถึงปี 2569

ในด้านเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลได้ผลักดันโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทาง "ประชารัฐ" ผ่าน "กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง" จำนวน 79,556 กองทุนๆละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน หรือใช้ในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลต้องการให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายให้ได้ภายใน 6 เดือน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานรากที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยจะครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่กิจกรรมด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าและการตลาด จึงนับเป็นมาตรการขยายผลความสำเร็จตามความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยได้มีการอนุมัติวงเงินสินเชื่อไว้เดิม 60,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลจะช่วยเหลือในเรื่องดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 2 ปี มีกองทุนหมู่บ้านรวมกว่า 50,000 กองทุนและมีสมาชิกได้รับประโยชน์จากโครงการนี้กว่า 3 ล้านครัวเรือน

พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลการใช้จ่ายการทำโครงการต่างๆให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยสิ่งสำคัญคือกลไกการทำงานที่ยึดหลักการ "ประชารัฐ" ที่มีส่วนร่วมทั้งจากภาคประชาชน ภาคเอกชนและภาครัฐ โดยมีระบบการติดตามและการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของ "อาสาประชารัฐ" ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้สังคมมีมาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง