"เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ" ชี้ปิดกั้นความเห็นเป็นการทำลายความชอบธรรมร่าง รธน.

การเมือง
28 ก.พ. 59
18:57
304
Logo Thai PBS
"เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ" ชี้ปิดกั้นความเห็นเป็นการทำลายความชอบธรรมร่าง รธน.
เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติออกแถลงการณ์กรณีที่ต้องยุติกิจกรรมเสวนาสาธารณะในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญใหม่เอายังไงดีจ๊ะ" ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หลังจากได้รับคำเตือนจากตำรวจว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็น "การชุมนุมทางการเมือง" และต้องขออนุญาตจาก คสช.

วันนี้ (28 ก.พ.2559) เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ซึ่งประกอบด้วย สำนักข่าวไทยพับบลิก้า เว็บไซต์ iLaw ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน สำนักข่าวประชาไท และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวกรณีที่ทางเครือข่ายต้องยุติกิจกรรมเสวนาสาธารณะ "รัฐธรรมนูญใหม่เอายังไงดีจ๊ะ" ซึ่งมีกำหนดจัดวันนี้ (28 ก.พ.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รวมถึงต้องย้ายสถานที่จัดการแข่งขันกิจกรรม "เพดชะคูฉะ" มาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายหลังจากได้รับจดหมายจากผู้กำกับ สน.ปทุมวันและกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ว่า กิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งจะต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน พร้อมทั้งเตือนว่าตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษทั้งจำคุกและปรับ ส่งผลให้หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพยกเลิกการให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมดังกล่า

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการเว็บไซต์ iLaw ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ประชามติ อ่านแถลงการณ์ซึ่งระบุว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในบรรยากาศที่เปิดกว้างเท่านั้นที่เป็นเครื่องรับประกันได้ว่ารัฐธรรมนูญและนโยบายสาธารณะทุกรูปแบบจะถูกออกแบบขึ้นโดยสอดรับกับความต้องการของประชาชนและนำไปสู่การแก้ปัญหาอันซับซ้อนของสังคมได้จริง

"ความพยายามในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือการต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนแสดงความคิดเห็นในประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่วิธีการหาคำตอบให้สังคมได้ มีแต่จะสร้างรู้สึกความอึดอัดและแปลกแยกจนบ่มเพาะทำให้สังคมเต็มไปด้วยความแตกแยกที่ฝังรากลึกขึ้นทุกวัน ช่วงเวลาที่สังคมมีความขัดแย้งสูงอย่างในปัจจุบัน ไม่มีกระบวนการใดจะเป็นเครื่องมือพาสังคมเดินหน้าไปได้นอกจากการเปิดพื้นที่ให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกความคิดเห็นได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ" นายยิ่งชีพกล่าว

แถลงการณ์ของเครือข่ายระบุด้วยว่า ในบรรยากาศที่กำลังมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและกำลังมีการลงประชามติ หลักการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น หากประชาชนถูกปิดกั้นหรือถูกขัดขวางในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นรัฐธรรมนูย "ย่อมทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งขาดความชอบธรรมอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ยิ่งสูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นไปอีก

นายยิ่งชีพกล่าวว่า กิจกรรมเสวนานี้ เป็นการเปิดพื้นที่ในการแสดงความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยรูปแบบที่เข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญ จะถูกมองว่าเป็นเรื่องยากและนำเสนอเพียงเนื้อหาทางวิชาการ ยืนยันว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เปิดกว้างจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญและนโยบายสาธารณะที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

นายจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการที่ ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีกระบวนการร่างที่เริ่มต้นด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง แต่มีการกำหนดให้จัดทำประชามติต่อร่างฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและแสดงความเห็น ทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง