ช่างพิมพ์ราชบุรีหวั่น ไร้ผู้สืบทอดเทคนิคเรียงพิมพ์ตะกั่วโบราณสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ไลฟ์สไตล์
28 ก.พ. 59
12:55
3,005
Logo Thai PBS
ช่างพิมพ์ราชบุรีหวั่น ไร้ผู้สืบทอดเทคนิคเรียงพิมพ์ตะกั่วโบราณสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
กว่า 50 ปี ที่ช่างเรียงพิมพ์เพียงคนเดียวของโรงพิมพ์เจริญสิน จ.ราชบุรี ยังสานต่อการพิมพ์แบบโบราณรับจ้างทำงานพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาจีน อีกด้านยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ลูกหลาน แต่อนาคตที่ยังไร้คนสืบทอด อาจถึงคราวที่เทคนิคเรียงพิมพ์โบราณในท้องที่ต้องดับสูญ

วันที่ (28 ก.พ. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทคนิคการเรียงพิมพ์แบบโบราณ ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 วันนี้ยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อความทั้งภาษาไทยและจีน โดยช่างพิมพ์ต้องนำอักษรแต่ละตัวมาเรียงเป็นคำให้แม่นยำ เมื่อเข้าเครื่องพิมพ์แล้วก็ยังต้องคอยดูอย่างใกล้ชิด ไม่ให้แรงพิมพ์มากเกินไปจนหมึกเลอะ ในแต่ละขั้นตอนที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ทำให้งานพิมพ์แต่ละแผ่นคมชัดตามสั่ง เป็นสิ่งที่ ชั้น แดงพยนต์ หรือ น้อย โรงพิมพ์ ช่างประจำโรงพิมพ์เจริญสิน ริมคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ยึดถือมาตลอด 40 ปี

หากปัจจุบัน การเรียงพิมพ์ที่ใช้เวลาและความปราณีตถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่ เหลือ น้อย โรงพิมพ์ ในวัย 63 ปี เป็นช่างฝีมือคนสุดท้าย ที่ยังคงทำหน้าที่เรียงพิมพ์และให้ความรู้ผู้มาเยือน

คำจีนเกือบ 4,000 ตัว ทำจากตะกั่วยังถูกใช้งาน มีลูกค้าประจำเป็นศาลเจ้านับ 10 แห่ง ใน จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.สมุทรสาคร และ จ.นครปฐม ว่าจ้างพิมพ์ใบปลิวงานประจำปี รวมถึงงานของสมาคมตระกูลแซ่ต่างๆ ส่วนภาษาไทยมีทั้งใบเสร็จประปาหมู่บ้าน การ์ดเชิญงานบวชและงานแต่ง

แต่เมื่อโรงหล่อตัวพิมพ์ตะกั่วปิดกิจการ ซึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยใหม่ ช่างชั้น ระบุว่า ตัวพิมพ์ตะกั่วเดิมของโรงพิมพ์เจริญสินจำนวนไม่น้อยก็สึกกร่อนตามอายุ ทำให้ต้องเลี่ยงการพิมพ์คำบางคำ หรือแก้ไขตามหน้างาน เช่น ตัดหางตัวพิมพ์ตะกั่ว ป.ปลา เพื่อใช้แทน บ.ใบไม้

ขณะที่ วรรณ เจริญสิน ทายาทโรงพิมพ์เจริญสิน บอกว่า อยากโรงพิมพ์นี้อยู่เป็นของโบราณของครอบครัว แต่ก็มีปัญหาเพราะการดำเนินกิจการไม่คุ้มทุน

เกือบ 60 ปีที่เสียงเครื่องเรียงพิมพ์โบราณ เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนริมคลองดำเนินสะดวก บริเวณหลัก 5 แต่เมื่อช่างฝีมือและอุปกรณ์เริ่มขาดแคลน ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากโรงพิมพ์เชิงธุรกิจเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่ออนุรักษ์ความทรงจำในอดีต ให้โรงพิมพ์เก่าแก่แห่งนี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องของชุมชนต่อไป

 

'เจริญสิน' โรงพิมพ์แบบเรียงพิมพ์ ราชบุรี แหล่งเรียนรู้ที่ยังมีชีวิต ---------เหลือช่างพิมพ์แบบเรียงพิมพ์เพียงคนเดียว ที่สานต่อเจริญสินการพิมพ์ ราชบุรี ให้ยืนหยัดมาครึ่งศตวรรษ แม้ยังมีงานจ้างพิมพ์ทั้งภาษาไทยจีน แต่เทคนิคการพิมพ์โบราณแทบไร้คนสืบทอด ตัวอักษรก็สึกกร่อนตามอายุ ทำให้อนาคตแหล่งเรียนรู้ที่ยังมีชีวิตของท้องถิ่นอาจต้องเปลี่ยนแปลง#ไทยบันเทิง #ThaiPBS

Posted by ไทยบันเทิง ThaiPBS on 28 กุมภาพันธ์ 2016

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง