คนวงการหนังเสนอกฎหมาย "ยืดเวลายืนโรงฉายภาพยนตร์" แก้ปัญหาหนังไทยขาดทุน

Logo Thai PBS
คนวงการหนังเสนอกฎหมาย "ยืดเวลายืนโรงฉายภาพยนตร์" แก้ปัญหาหนังไทยขาดทุน
หลังจากมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องถูกลดรอบฉายและถูกถอดออกจากโรงหนังในระยะเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ จนทำให้ผู้สร้างหลายรายประสบปัญหาขาดทุน คนในวงการหนังจึงพยายามหาทางออก ล่าสุด เสนอกฎหมายคุ้มครองหนังไทยด้วยการกำหนดเวลายืนโรงฉายขั้นต่ำ

การถูกลดรอบฉายตั้งแต่วันแรกของ "วานรคู่ฟัด" ภาพยนตร์แอ็คชั่นผลงาน "นนทกร ทวีสุข" ที่เหลือรอบฉายเพียง 23 โรงในกรุงเทพฯ ก่อนที่ต่อมาจะถูกถอดออกจนหมดในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ทำให้หนังทุนสร้าง 30 ล้านบาทของบริษัทน้องใหม่อย่าง "ก้าวไทยทะยาน" ขาดทุนอย่างหนัก เพราะทำรายได้เพียง 3 แสนบาทเท่านั้น แม้จะได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก และความสนใจจากต่างชาติทั้งญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เกาหลี และอินเดีย ที่ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไปฉาย หากการถูกถอดรอบฉายตั้งแต่สัปดาห์แรก ทำให้ นนทกร มองว่านี่อาจไม่ยุติธรรมสำหรับคนทำหนัง เนื่องจากยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองจากคนดู

ยังมีภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นของผู้สร้างอิสระทั้งสิ้น เช่น "ศรีธนญชัย" หรือ "เมื่อฝนหยดลงบนหัว" ของ ณิชภูมิ ชัยอนันต์ ที่เข้าฉายชนกับหนังบ็อกบลัสเตอร์ Deadpool อีกทั้งหนังไม่ได้มีกระแสมากนัก ทำให้ถูกลดโรงฉายก่อนหนังเข้าเพียง 3 วันเท่านั้น จนล่าสุด ณิชภูมิ ตัดสินใจที่จะไม่ทำหนังลงจอใหญ่ และจะเปลี่ยนมาทำขายในรูปแบบดีวีดีและสตรีมมิ่งแทน

ปัญหาที่สั่งสมมานานเกือบ 10 ปีระหว่างผู้สร้างหนังและโรงภาพยนตร์ ทำให้นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย "บัณฑิต ทองดี" และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติต้องเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ล่าสุด ได้ปรึกษากับกระทรวงวัฒนธรรมจนได้ข้อสรุปว่าควรเสนอกฎหมายคุ้มครองหนังไทยบรรจุใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ปี 2551 โดยให้มีการกำหนดรอบฉายที่แน่นอนและระยะเวลายืนโรงขั้นต่ำ 2 สัปดาห์ ซึ่งหากทำได้คาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายใน 2 ปีนี้

และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับโรงภาพยนตร์ในฐานะภาคธุรกิจ ก็จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าหนังเรื่องไหนบ้างที่สมควรเข้าข่ายการช่วยเหลือนี้ โดยอาจมีตัวแทนจากนักวิจารณ์หนัง, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, สมาคมโรงภาพยนตร์ และสมาคมผู้อำนวยการสร้าง เป็นผู้ตัดสิน

การยืดระยะเวลายืนโรงฉาย เพื่อให้หนังได้มีเวลาพิสูจน์ตัวเองมากพอ คือสิ่งที่คนในวงการหนังส่วนใหญ่คาดหวังจากโรงภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าหากหนังดี มีคุณภาพ จะทำให้เกิดกระแสปากต่อปากจนหนังสามารถทำเงินได้ อย่างที่เคยเกิดมาแล้วกับ โหมโรง ที่แม้ถูกลดรอบฉายตั้งแต่ 3 วันแรก แต่กระแสจากสื่อออนไลน์ ทำให้หนังทำเงินไปกว่า 52 ล้านบาท

หรือสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก ที่ทำรายได้สูงถึง 80 ล้านบาท แม้กระแสเปิดตัวอาจไม่ดีนัก และตุ๊กแกรักแป้งมาก หนังรักของ ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่แม้ไม่ได้โปรโมทอย่างหวือหวา และทำรายได้เปิดตัวเพียง 7 แสนบาท หากกระแสบอกต่อ ทำให้หนังกลับมาทำเงินได้ถึง 21 ล้านบาท การให้ที่ยืนสำหรับหนังไทยคุณภาพตามโมเดลนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมหนังให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง