โทรศัพท์สาธารณะยังไม่ตาย : "ทีโอที" ยอมรับขาดทุนแต่ให้บริการต่อ

สังคม
10 มี.ค. 59
13:54
6,657
Logo Thai PBS
โทรศัพท์สาธารณะยังไม่ตาย : "ทีโอที" ยอมรับขาดทุนแต่ให้บริการต่อ
"ตู้โทรศัพท์สาธารณะยังคงต้องมีอยู่ เพราะยังมีคนที่มีรายได้น้อยยังคงใช้งานอยู่ เราต้องดูแลเขา ถึงแม้จะขาดทุน"

ปี 2522 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรีญ 100 เครื่องแรกในกรุงเทพฯ นับเป็นการเปิดมิติใหม่ของการสื่อสารของคนในเมืองหลวงที่ทำให้การติดต่อถึงกันสะดวกขึ้น 35 ปีผ่านไป "โทรศัพท์สาธารณะ" กลายเป็นวัตถุแห่งอดีตที่แทบจะไม่อยู่ในสายตาของผู้คน หรือถ้าใครบังเอิญผ่านไปเจอก็ได้แต่เบือนหน้าหนี เพราะตู้โทรศัพท์สาธารณะส่วนมากมีสภาพทรุดโทรม สกปรก กลายเป็นที่ทิ้งขยะหรือแม้แต่เป็นที่ปลดทุกข์ริมทาง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นใช้การไม่ได้อีกแล้ว

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบสื่อสารที่มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปมีการใช้งานตู้โทรศัพท์สาธารณะน้อยลงมาก แต่การให้บริการโทรศัพท์สาธารณะก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปเพราะเป็นการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน

"เมื่อก่อนใช้ตู้โทรศัพท์บ่อย ช่วงหลังโทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาทและมีราคาถูกลง ก็แทบไม่เคยใช้ทั้งโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นแบบบัตรเติมเงินหรือหยอดเหรียญอีกเลย" นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้ากล่าว

"ตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญหายากมากขึ้น หรือบางครั้งก็ใช้งานไม่ได้และสกปรกมาก ไม่สะดวกที่จะใช้ ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็จะมองหาจากตามห้างสรรพสินค้า ใช้เฉพาะเวลา โทรศัพท์มือถือแบตหมด หรือไม่มีสัญญาณ ก็จะโทรแค่ในระยะสั้นๆ" นักศึกษาอีกคนหนึ่งให้ความเห็น

นอกจากโทรศัพท์สาธารณะจะมีความจำเป็นเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยอย่างเช่นแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือหมดแล้ว ยังมีความจำเป็นสำหรับอีกหลายคนที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถืออีกด้วย อย่างเช่น ข้าราชการเกษียณวัย 72 ปี คนหนึ่งที่ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ เธอเล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับโทรศัพท์สาธารณะให้ฟังว่า

"เมื่อเร็วๆ นี้ออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ต และมีเหตุจำเป็นที่จะต้องโทรศัพท์ไปหาลูกที่บ้าน ปรากฏว่าโทรศัพท์สาธารณะที่ซูเปอร์มาเก็ตใช้ไม่ได้เลยสักเครื่องเดียว บางเครื่องไม่มีสัญญาณ บางเครื่องกินเหรียญ สรุปว่าโทรศัพท์กลับบ้านไม่ได้เลย จะไปขอยืมโทรศัพท์มือถือคนอื่นก็ไม่กล้า" เธอกล่าว

แม้ว่าโทรศัพท์สาธารณะจะกลายเป็นอดีตสำหรับคนส่วนมาก แต่สำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะอย่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์สาธารณะยังมีชีวิตอยู่ และเป็นชีวิตที่บริษัทต้องจัดสรรงบประมาณดูแลแต่ละปีจำนวนไม่น้อย

นายสมหมาย สุขสุเมฆ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักงานขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บริษัท ทีโอที ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า ถึงแม้จะมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะน้อยลงมาก แต่จะต้องมีโทรศัพท์สาธารณะอยู่ต่อไปตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่ระบุว่าระบบสื่อสารโทรคมนาคมของชาติต้องบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแลโดยมีหน้าที่กำหนดมาตรการให้มีการกระจายบริการโทรคมนาคม พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม โดยมี บริษัท ทีโอทีเป็นผู้ให้บริการหลัก

"ทีโอทียังเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะรายหลัก ซึ่งตอนนี้ตู้โทรศัพท์มีจำนวนลดลงมาก เพราะความต้องการใช้งานของประชาชนลดลง บวกกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีนโยบายจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะ รื้อถอนตู้โทรศัพท์ตามถนนสายหลักที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้ง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535" นายสมหมายให้ข้อมูล

จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทีโอทีจึงไม่มีนโยบายจัดหาตู้โทรศัพท์รุ่นใหม่มาให้บริการเพิ่มแล้ว แต่ยังคงบำรุงรักษาโทรศัพท์สาธารณะที่มีอยู่เดิมต่อไป

 

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ทีโอทีให้สัมปทานบริษัทเอกชนในการดำเนินการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีทั้งหมด 11 บริษัท ปัจจุบันเหลือเพียง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เท่านั้น โดยสัมปทานจะหมดปี 2560 เมื่อหมดสัญญาก็จะมีการรื้อถอนตู้โทรศัพท์ออกไป แต่ก็มีบางบริษัทที่หมดสัมปทานไปแล้วยังไม่ได้ทำการรื้อถอน ซึ่งทีโอทีและกทม.ก็จะต้องทำการรื้อถอน

ข้อมูล ณ ปี 2557 โทรศัพท์สาธารณะทั่วประเทศมีทั้งหมด 151,598 เครื่อง แบ่งเป็นโทรศัพท์สาธารณะกรุงเทพและปริมณฑล 34,218 เครื่อง ที่เหลือกว่า 117,380 เครื่องอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งลดลงจากปี 2556 ที่มีโทรศัพท์สาธารณะจำนวน 165,629 เครื่อง

ในส่วนของรายได้ ปี 2557 ทีโอทีมีรายได้จากโทรศัพท์สาธารณะเฉลี่ยเครื่องละ 135 บาท/เดือน หรือรวมทั้งหมด 200 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2556 ที่มีรายได้เฉลี่ยเครื่องละ 240 บาท/เดือน หรือประมาณ 210 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และตามชุมชน รวมทั้งโรงเรียนบางแห่งที่มีการออกกฎห้ามนักเรียนนำโทรศัพท์มือถือมาโรงเรียนก็จะมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเยอะกว่าที่อื่น ทำให้ทีโอทีมีรายได้ประมาณ 30,000-50,000 บาท ต่อเครื่องต่อเดือน

สำหรับการซ่อมบำรุงและการแก้ไขปัญหาในการใช้ตู้โทรศัพนั้น นายสมหมายกล่าวว่าทีโอทีเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยการนำวัสดุที่มีสภาพดีจากเครื่องที่รื้อถอนไปแล้วมาทดแทนอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย และเมื่อได้รับแจ้งหรือเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ก็จะนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปดำเนินการแก้ปัญหาให้ทันทีเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

ทีโอทีเมื่อนำรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์สาธารณะมาบวกลบกับต้นทุนและค่าดูแลบำรุงรักษาแล้ว นายสมหมายบอกว่าทีโอทีขาดทุนประมาณ 2,000 บาทต่อเครื่อง ดังนั้นจึงต้องลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโทรศัพท์สาธารณะให้มากที่สุด

"เรารื้อถอนเฉพาะโทรศัพท์สาธารณะที่ไม่จำเป็นจริงๆ เครื่องไหนที่ยังมีผู้ใช้บริการก็ยังคงไว้ แม้ว่าจะเราขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเราให้บริการเพื่อสังคม ไม่หวังกำไร" นายสมหมายกล่าวและเปิดเผยถึงแนวทางการหารายได้เพิ่มเติมจากการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะว่ามีแผนการจะนำเครื่องโทรศัพท์ที่ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือได้มาติดตั้งและในอนาคตจะนำพื้นที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะใช้เป็นพื้นที่ติดโฆษณา รวมทั้งให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยให้ผู้ใช้หยอดเหรียญก่อนใช้งาน (WiFi Payphone)

"ตู้โทรศัพท์สาธารณะยังคงต้องมีอยู่ เพราะยังมีคนที่มีรายได้น้อยยังคงใช้งานอยู่ เราต้องดูแลเขา ถึงแม้จะขาดทุนแต่เราทำเพื่อบริการสังคม มีคนถามว่าทำไมทีโอทีบริหารขาดทุน ก็เพราะเราทำหลายบทบาท คือเป็นทั้งคนใจบุญและองค์กรที่จะต้องทำกำไร"

ขณะที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับถึงการบริหารจัดการตู้โทรศัพท์สาธารณะว่า ขณะนี้บริษัทมีตู้โทรศัพท์สาธารณะทั้งหมด 26,581 ตู้และยังไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มหรือลดจำนวน ยกเว้นว่าได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าขอให้ย้ายหรือนำตู้โทรศัพท์สาธารณะออกไป

"ทรูยังคงให้บริการตู้โทรศัพท์อย่างต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มเติมบริการโทรต่างประเทศและบริการเติมเงินออนไลน์ผ่านเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ" เจ้าหน้าที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นกล่าว

แม้ว่าโทรศัพท์สาธารณะจะยังไม่ตาย แต่ปฏิเสธว่าลมหายใจของมันรวยรินเต็มที ซึ่งผู้ใช้หลายคนมองว่าโทรศัพท์สาธารณะยังจำเป็นต้องมีอยู่ต่อไป แต่ผู้ให้บริการควรพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ได้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น

"อยากให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นเหมือนสาธารณูปโภคยุคดิจิตอลที่สามารถตอบสนองแบบ Interactive ได้มากกว่าการตั้งตู้ให้ใช้งานโทรออกได้เพียงอย่างเดียว เช่น เป็นวิดีโอคอลสาธารณะได้ ฟังเพลงหรือดาวน์โหลดเพลงได้ ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือได้ เติมเงินโทรศัพท์ได้ ชำระค่าสินค้าบริการได้ เลือกซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ที่สำคัญตู้โทรศัพท์ต้องมีศิลปกรรมที่เข้ากับสภาพชุมชนและภูมิทัศน์ได้อย่างกลมกลืน สะอาด และประชาชนเข้าถึงได้จริง" นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนคนหนึ่งเสนอแนะ

 

รายงานพิเศษโดย ยไมพร คงเรือง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง