โฆษก ทส.ระบุ ใช้เทคนิค “ฟิงเกอร์ จอยท์” อัดประสานขึ้นรูปไม้พะยูงของกลางขนาดเล็กที่เสื่อมสภาพ

สังคม
10 มี.ค. 59
20:41
204
Logo Thai PBS
โฆษก ทส.ระบุ ใช้เทคนิค “ฟิงเกอร์ จอยท์” อัดประสานขึ้นรูปไม้พะยูงของกลางขนาดเล็กที่เสื่อมสภาพ
โฆษก ทส. เผยใช้เทคนิค “ฟิงเกอร์ จอยท์” เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปไม้พะยูงของกลางขนาดเล็ก ใช้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติไม้มีค่า ด้าน ผอ.อ.อ.ป.เผย เล็งสร้างศูนย์การเรียนรู้ไม้พะยูง 700 ไร่ ที่สวนป่าท่ากุ่มฯ จ.ตราด ป้องกันลักลอบตัดจากป่าธรรมชาติ

จากกรณี รัฐบาลมอบหมายให้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ทำหน้าที่แปรรูปไม้พะยูงของกลางที่คดีสิ้นสุดแล้ว จากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมศุลกากร จำนวน 56,826 ท่อน/แผ่น ปริมาตรไม้รวม 1,831.02 ลูกบาศก์เมตร แปรรูปเพื่อนำไปก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติไม้มีค่าที่เทเวศร์ โดยทำการแปรรูปที่โรงเลื่อยอู่บกพหลโยธิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

วันนี้ (10 มี.ค. 2559) นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เบื้องต้น อ.อ.ป.ได้ดำเนินการคัดเลือกเฉพาะไม้ที่มีคุณภาพ มีขนาดที่เหมาะสม ขึ้นทำการแปรรูปแล้วจำนวน 2,804 ท่อน ปริมาตรไม้รวม 289.339 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งผลการแปรรูปไม้พะยูงของกลางชุดนี้ ได้ไม้ทั้งสิ้น 8,734 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 132.001 ลูกบาศก์เมตร ได้ปีกไม้-ปลายไม้จำนวน 77 กอง ปริมาตร 120.240 ลูกบาศก์เมตร ได้เศษหัวไม้ตัดจำนวน 3 กอง ปริมาตร 4.350 ลูกบาศก์เมตร และได้ขี้เลื่อยปริมาตร 24.020 ลูกบาศก์เมตร

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า คงเหลือไม้พะยูงอีกจำนวน 54,022 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 1,541.681 ลูกบาศก์เมตร ที่ยังไม่ได้ดำเนินการแปรรูป เนื่องจากเป็นไม้ที่มีขนาดเล็ก คด งอ โพรง เป็นไม้ที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งในจำนวนไม้ขนาดเล็กนี้ ยังปรากฏว่าเป็นไม้ที่มีขนาดเล็กมาก เรียกว่าไม้ตะเกียบอยู่เป็นจำนวน 25,860 ชิ้น ปริมาตร 0.65 ลูกบาศก์เมตร ไม่สามารถนำมาใช้งานตามวัตถุประสงค์การก่อสร้างฯ ในครั้งนี้ได้

“เพื่อให้การแปรรูปไม้พะยูงที่คงเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางคณะกรรมการบริหารจัดการไม้มีค่าฯ ให้ความเห็นชอบต่อการใช้เทคโนโลยีทางไม้มาตัดต่อไม้ให้เป็นแผ่นยาว มีความหนาและกว้างขึ้นแบบอัดประสานขึ้นรูป หรือฟิงเกอร์ จอยท์ (Finger Joint) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างตกแต่งอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าได้มากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำระบุ

ด้าน นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผอ.อ.อ.ป. กล่าวว่า ขณะนี้ อ.อ.ป. ได้เร่งดำเนินการแปรรูปไม้พะยูงขนาดเล็กในส่วนที่เหลือ รวมถึงได้เตรียมความพร้อมในเรื่องเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประสานขึ้นรูปฟิงเกอร์ จอยท์แล้ว

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารจัดการไม้มีค่าฯ ยังมีมติเห็นชอบให้ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมศุลกากร ส่งไม้มีค่าชนิดอื่นๆ ที่คดีสิ้นสุดแล้ว มอบให้ อ.อ.ป. แปรรูปเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เพิ่มเติมอีกภายหลัง ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2559 ทั้ง 3 หน่วยงาน จะสามารถจัดส่งไม้สักและไม้พะยูงให้กับ อ.อ.ป. เพื่อแปรรูปอีกจำนวน 3,077 ลูกบาศก์เมตร และในปี 2560-2561 จะจัดส่งไม้สักและไม้พะยูงรวมถึงไม้ดีมีค่าเนื้อแข็งอีก 5 ชนิด ได้แก่ ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียนทอง ไม้มะค่าโมง และไม้ชิงชัน เพื่อใช้ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ในส่วนของโครงสร้างต่อไป

“ในปี 2560 อ.อ.ป. มีแผนงานก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ไม้ดีมีค่า (ไม้พะยูง) ที่สวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุอุเมดะ จ.ตราด ซึ่งเป็นสวนป่าที่ปลูกไม้พะยูงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พื้นที่กว่า 700 ไร่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ป่าปลูกไม้พะยูง โดยเน้นการเรียนรู้ การศึกษาและวิจัย ด้วยกระบวนการสิ่งแวดล้อม กิจกรรมนันทนาการ แสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับไม้พะยูงและตัวอย่างสิ่งที่มีชีวิตในพื้นที่สวนป่า ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สามารถสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน และที่สำคัญยังเป็นการป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูงจากป่าธรรมชาติให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้แผนดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อของบประมาณสนับสนุน 8 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับอนุมัติจะแล้วเสร็จปี 2562” นายพิพัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง