ชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำพิจิตร ใช้คูปองแลกพืชผักปลอดสารพิษ แต่จะหมดสิ้นเดือนนี้แล้ว

สิ่งแวดล้อม
12 มี.ค. 59
19:06
1,392
Logo Thai PBS
ชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำพิจิตร ใช้คูปองแลกพืชผักปลอดสารพิษ แต่จะหมดสิ้นเดือนนี้แล้ว
เกือบ 8 เดือนที่ประชาชนอาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำพิจิตร ต้องใช้คูปองได้รับสัปดาห์ละ 40 บาท ไปแลกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษตามโครงการที่รัฐแก้ไขปัญหา แต่โครงการจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนนี้ ติดตามรายงานจากคุณภัทราพร ตั๊นงาม

ชาวบ้านที่อาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำจ.พิจิตร ใช้คูปอง ที่ได้รับจากเกษตรจังหวัดพิจิตร ไปแลกซื้อผักสวนครัวปลอดสารพิษจากนอกพื้นที่ชุมชน ตามที่ต้องการ เพื่อนำมาประกอบอาหารเดือนนี้ เข้าสู่เดือนที่ 8 แล้ว ที่ได้รับแจก เนื่องจาก การปลูกผักสวนครัวบริเวณรอบบ้าน ชาวบ้านไม่มั่นใจว่าจะเกิดความปลอดภัย หลังจากมีคำเตือนของกลุ่มนักวิชาการ และคณะแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ต้นปี 2558 ให้ชาวบ้านหลีกเลี่ยงการบริโภค พืชผักรอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการบริโภคพืชผักที่อาจมีสารโลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย

คูปองที่ชาวบ้านได้รับแจกจ่าย มีข้อความพิมพ์ระบุว่า "โครงการจัดซื้อพืชผัก เพื่อแจกจ่ายราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จากการทำเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาเจ็ดลูด อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร" โครงการนี้ เริ่มแจกให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2558 จำนวน 253 ราย ด้วยงบประมาณ 4 แสนบาท แจกจ่ายให้ชาวบ้าน 253 คน จากกองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต กระทรวงอุตสาหกรรม และกำลังจะสิ้นสุดโครงการในสิ้นเดือนนี้แต่ล่าสุด การพิสูจน์ปัญหาสารโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมรอบเหมืองแร่ทองคำ ยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับชาวบ้านร้องเรียนจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้โครงการนี้ ต้องขยายระยะเวลาแจกคูปองแลกผักปลอดสารพิษ ออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยภาครัฐอนุมัติให้เพิ่มการแจก เป็น 382 คน และเพิ่มงบประมาณ เป็น กว่า 1 ล้าน 1 แสนบาท เพื่อแจกคูปองให้ชาวบ้าน คนละ 120 บาท ต่อสัปดาห์ ซึ่งสามารถนำไปแลกผักยังจุดรับแลกได้ สัปดาห์ละ 2 วัน

ชาวบ้านที่อาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำ ให้ข้อมูลด้วยว่า แม้"คูปองแลกผัก" จะเป็นโครงการที่ทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่อาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำ แต่เป็นโครงการที่ทำระยะสั้นเท่านั้น แต่ความต้องการของพวกเค้า คือ การพิสูจน์หาที่มาของสารโลหะหนักที่อยู่ในร่างกายชาวบ้าน และ สิ่งแวดล้อม

เกษตรจังหวัดพิจิตร ระบุว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีสารโลหะหนักปนเปื้อนขณะนี้ อาจต้องรอคณะทำงานชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมตรี สั่งแต่งตั้ง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อทิศทางการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง