มหาดไทยเร่งผู้ว่าฯตั้งศูนย์ป้องกันแก้ภัยแล้ง รายงานสถานการณ์ทุกระยะ

ภัยพิบัติ
14 มี.ค. 59
10:21
124
Logo Thai PBS
มหาดไทยเร่งผู้ว่าฯตั้งศูนย์ป้องกันแก้ภัยแล้ง รายงานสถานการณ์ทุกระยะ
ปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมเร่งรัดการตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาภัยแล้ง บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่หารือทุกสัปดาห์

ภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ทำให้นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและหน่วยงานในสังกัด ให้เร่งดำเนินการตามมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีปัญหาแล้งแต่ยังไม่ได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งก็ให้รีบจัดตั้งโดยเร็ว

นอกจากนี้ยังต้องสำรวจปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จริงในพื้นที่ โดยแยกเป็นข้อมูลน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรว่ามีอยู่จำนวนเท่าใดและสามารถใช้ในพื้นที่จังหวัด อำเภอได้นานเท่าใดและหากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่จนถึงเดือน มิ.ย.นี้ จะมีแนวทางป้องกัน ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างไร

 

ปลัดกระทรวงมหาดไทยยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวางแผนจัดลำดับความสำคัญของการช่วยเหลือประชาชนตามความสำคัญของปัญหา กำหนดจุดแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในกรณีจำเป็น รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลน้ำใต้ดินว่าจะขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลที่ใดได้บ้าง ไปจนถึงการสำรวจแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อทำเหมือง ฝาย สำรองน้ำใช้ในหมู่บ้านและชุมชน โดยขอให้จังหวัดและอำเภอรายงานสถานการณ์ภัยแล้งและวิธีการบริหารจัดการให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกระยะ

ข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยว่าปัจจุบันมีจังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง จำนวน 15 จังหวัด 60 อำเภอ แยกเป็นภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัดและภาคตะวันออก 3 จังหวัด

ขณะที่มีรายงานถนนทรุดตัวที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บริเวณใกล้สะพานข้ามคลอง 12 ถนนรังสิต-นครนายกขาเข้า ในพื้นที่ ต.บึงน้ำรักษ์ ความยาว 50 เมตร ความลึกประมาณ 60 เซ็นติเมตร นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าถนนเส้นทางเลียบคลองในเขตพื้นที่ อ.หนองเสือ อ.ธัญบุรี และอ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ช่วงบริเวณคลอง 10 จนถึงคลอง 14 ทรุดตัวและแตกร้าวกว่า 120 จุด หลังน้ำในคลองหลายสายลดระดับลงจนเห็นได้ชัด ส่งผลทำให้ถนนเลียบคลองทรุดตัว

 

แม้จะซ่อมแซมด้วยการปรับพื้นระดับถนนที่ทรุดให้พื้นถนนเรียบและสามารถใช้งานได้ชั่วคราวแล้ว แต่เนื่องจากยังขาดงบประมาณสร้างใหม่ ประกอบกับมีรถบรรทุกพ่วงขนาดใหญ่ใช้เส้นทางถนนเลียบคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนและพบรอยร้าวเพิ่มที่พื้นผิวถนน ประชาชนในพื้นที่จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดเรื่องน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกเพื่อป้องกันถนนทรุดเพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง