รายงานพิเศษ: เหตุเกิดที่เจาะไอร้อง เมื่อโรงพยาบาลกลายเป็นสมรภูมิ

14 มี.ค. 59
17:25
1,748
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ: เหตุเกิดที่เจาะไอร้อง เมื่อโรงพยาบาลกลายเป็นสมรภูมิ
เหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ก่อความไม่สงบที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทำให้หลายฝ่ายออกมาประณามการก่อเหตุที่ใช้โรงพยาบาลเป็นฐานในการโจมตี ขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้ก็นำไปสู่ข้อเสนอให้ทบทวนการตั้งฐานที่มั่นของทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การเผชิญหน้าระหว่างผู้ก่อเหตุและเจ้าหน้าที่ที่ รพ.เจาะไอร้อง เป็นหนึ่งใน 17 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. และลากยาวไปจนถึงกลางดึกของวันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค.2559 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือที่รู้จักกันว่า "บีอาร์เอ็น" แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบในครั้งนี้ แต่เหตุการณ์ที่ รพ.เจาะไอร้อง กลายเป็นที่จับตาจากหลายฝ่าย เพราะไม่บ่อยนักที่จะเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่โรงพยาบาล

เกิดอะไรขึ้นที่ รพ.เจาะไอร้อง

จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์ที่ รพ.เจาะไอร้อง เกิดขึ้นหลังจากผู้ก่อเหตุจุดระเบิดและซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน 4816 บริเวณบนถนนใกล้ รพ.เจาะไอร้อง ต.จวบ เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 7 นาย

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้จนผู้ก่อเหตุล่าถอยและหลบหนีเข้าไปซ่อนตัวใน รพ.เจาะไอร้อง เจ้าหน้าที่จึงใช้รถยนต์กระบะหุ้มเกราะเป็นบังเกอร์ในการยิงต่อสู้ โดยผู้ก่อเหตุได้แฝงตัวปะปนกับประชาชนภายใน รพ.เจาะไอร้อง เหตุยิงปะทะกันเกิดขึ้นนานกว่า 1 ชั่วโมง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากการตรวจสอบภายในโรงพยาบาลหลังการปะทะสิ้นสุดลง พบปลอกกระสุนปืนสงครามอาก้าและเอ็ม 16 จำนวนกว่า 500 ปลอก ตกอยู่ที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารโรงพยาบาล

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศราอ้างข้อมูลจากนายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสที่เข้าตรวจที่เกิดเหตุใน รพ.เจาะไอร้องว่า ผู้ก่อเหตุปีนบ้านพักแพทย์ซึ่งไม่มีคนอยู่เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ แล้ววิ่งผ่านเข้าไปยังตึกเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการด้านปฐมภูมิกายภาพบำบัด ขึ้นไปบริเวณชั้น 2 ของอาคารซึ่งมี 2 ชั้น แล้วใช้เป็นสถานที่กำบังเพื่อยิงใส่ฐานทหารพราน 4816

ภายในอาคารโรงพยาบาล ผู้ก่อเหตุพบพยาบาลที่กำลังตั้งครรภ์นั่งอยู่คนเดียวจึงใช้เชือกฟางมัดมือแล้วบอกให้ก้มหน้า โดยพูดเป็นภาษาไทย ผู้ก่อเหตุไม่ได้ทำร้ายพยาบาลคนดังกล่าว จากนั้นจึงขึ้นไปยิงใส่ฐานทหาร ก่อนวิ่งลงด้านล่างแล้วหนีไปด้านหลังโรงพยาบาล กลับขึ้นเทือกเขาตะเว

จากระเบิดที่ รพ.โคกโพธิ์ ถึง ยิงปะทะที่ รพ.เจาะไอร้อง

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2557 เกิดเหตุระเบิดที่ลานจอดรถโรงพยาบาลโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยผู้ก่อเหตุนำรถจักรยานยนต์ประกอบระเบิดมาจอดไว้ในลานจอดรถของโรงพยาบาล แล้วจุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 11 คน รถยนต์และรถจักรยานยนต์เสียหายกว่า 60 คัน

แม้จะเป็นเหตุที่เกิดบริเวณโรงพยาบาลเหมือนกัน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ต่างจากเหตุการณ์ที่ รพ.เจาะไอร้อง ซึ่งผู้ก่อเหตุบุกเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงานของโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนานจึงมองว่าเหตุการณ์ที่ รพ.เจาะไอร้อง "รุนแรงมากกว่าเหตุการณ์ที่ รพ.โคกโพธิ์"

"เหตุการณ์ที่ รพ.โคกโพธิ์ เกิดขึ้นบริเวณลานจอดรถด้านนอกโรงพยาบาล แต่สำหรับที่ รพ.เจาะไอร้อง ผู้ก่อเหตุบุกเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงานของแพทย์ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงกว่ามาก และเป็นการยากที่ทางโรงพยาบาลจะป้องกันตัวเองได้" นพ.สุภัทรกล่าวและเสนอว่าจากกรณีนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควรจะทบทวนเรื่องการตั้งฐานทหารหรือตำรวจอย่างจริงจัง

นพ.สุภัทรกล่าวเพิ่มเติมว่าโรงพยาบาลจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเป็นกลางจริงๆ จึงไม่ควรมีฐานที่มั่นของทหารมาอยู่ใกล้ๆ เพราะอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้โรงพยาบาลได้

"กอ.รมน.ต้องทบทวนว่าการตั้งฐานของฝ่ายความมั่นคงนั้น อยู่ห่างจากพื้นที่อ่อนไหวมากน้อยแค่ไหนถึงจะเหมาะสม" นพ.สุภัทรกล่าวและยอมรับว่าฝ่ายความมั่นคงยังมีความคิดที่ต่างจากฝ่ายบุคลากรด้านสาธารณสุขในเรื่องนี้ เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงเห็นว่า หากไม่ตั้งฐานทหารใกล้ชุมชน วัด หรือโรงพยาบาลก็จะทำให้ยากต่อการดูแลความสงบเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุในครั้งนี้ นพ.สุภัทร เสนอว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะวางแผนป้องกันเหตุทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น เช่น การติดไฟส่องสว่าง การสร้างรั้วให้มิดชิด การติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะช่วยได้ป้องกันเหตุได้ระดับหนึ่ง ส่วนระยะยาวจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและช่วยดูแลชุมชน รวมถึงโรงพยาบาลได้

เสนอ กอ.รมน. "ทบทวนที่ตั้งของทหารทั้งหมด"

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อดีตนักวิเคราะห์ของอินเตอร์แนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปที่เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิเคราะห์เหตุปะทะที่ รพ.เจาะไอร้องว่า จากข่าวสารที่เผยแพร่ออกมาดูเหมือนว่าเป้าของการโจมตีอยู่ที่ค่ายทหารที่อยู่ติดกัน ไม่ได้มุ่งที่จะบุกโรงพยาบาล ไม่มีการทำร้ายใครในโรงพยาบาล แต่ได้ทำลายเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงถูกมัดมือไพล่หลังและควบคุมตัวอยู่พักหนึ่ง

"ดูเหมือนยุทธวิธีของฝ่ายขบวนการยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังมุ่งโจมตีเป้าหมายทางการทหารของฝ่ายตรงข้าม แต่สมรภูมิรบขยายเข้าไปสู่พื้นที่ของโรงพยาบาลซึ่งอยู่ติดกัน" รุ่งรวีให้ความเห็น "ตาม International Humanitarian Law (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับใช้ในสถานการณ์ของการสู้รบด้วยอาวุธทั้งในและระหว่างประเทศ โรงพยาบาลจะต้องถูกวางหมุดหมายให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายพึงหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการทางการทหารในพื้นที่โรงพยาบาล"

รุ่งรวีเสนอว่า "จากกรณีนี้ กอ.รมน.ควรจะพิจารณาที่ตั้งของฐานทหารทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงแต่โรงพยาบาล แต่ฐานทหารยังเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของวัดและโรงเรียนของรัฐอันเป็นผลโดยตรงของนโยบายรัฐ อาจจะถึงเวลาที่จะทบทวนว่ายุทธวิธีเช่นนี้เป็นผลดีหรือผลเสียต่อความปลอดภัยของพลเรือนมากกว่ากัน"

เธอขยายความเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ IHL ด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมา มีการพูดถึง IHL มากขึ้นในบริบทของภาคใต้ มีองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้กับฝ่ายขบวนการอย่างเงียบๆ

"ฝ่ายไทยเองไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องนี้ เพราะจะหมายถึงว่าเป็นการยอมรับว่าสถานการณ์ในภาคใต้เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธภายในประเทศ (Non-international armed conflict) ฝ่ายไทยเกรงว่าการยอมรับเช่นนั้นจะเป็นสิ่งที่เปิดทางให้สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์และทำให้ไทยไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ในมือตนเองและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะ 'เสียดินแดน' ความเข้าใจเช่นนี้ดูจะมองการเมืองระหว่างประเทศหยาบและตายตัวมากเกินไป จริงๆ แล้วการเมืองระหว่างประเทศมีพลวัตมากกว่านั้น และในบางกรณีการใช้ IHL ไม่จำเป็นที่จะทำให้ฝ่ายรัฐที่เป็นคู่ขัดแย้งกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอไป ในสถานการณ์เช่นนี้ หากทั้งสองฝ่ายแสดงความตั้งใจที่จะเคารพ IHL ก็อาจจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความคุ้มครองพลเรือนได้ดีขึ้นในสภาวะที่สงครามยังคงไม่จบในเร็ววัน" 

"พล.ท.นักรบ" เชื่อโจมตีโรงพยาบาล ผลเสียต่อขบวนการเอง

พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่าเหตุรุนแรงที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หลายจุด ซึ่งรวมถึงเหตุที่ รพ.เจาะไอร้องด้วยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ที่อาจมีการก่อเหตุเกิดขึ้น ซึ่งได้มีการแจ้งเตือนในทุกระดับอยู่แล้ว

 

ส่วนข้อวิจารณ์ว่าอาจเป็นยุทธวิธีของกลุ่มผู้ก่อการที่มุ่งก่อเหตุในพื้นที่ปลอดภัย พล.ท.นักรบ กล่าวว่ายังไม่สามารถให้ความเห็นได้ ต้องรอการรวบรวมรายงานวิเคราะห์เหตุที่เกิดขึ้นก่อน เพราะว่ามีเหตุเกิดหลายจุด แต่ก็มองว่าการก่อเหตุไม่สงบในโรงพยาบาลจะยิ่งเป็นผลเสียต่อขบวนการเอง

เมื่อถามว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงปัญหาในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือไม่ พล.ท.นักรบระบุว่า กลุ่มที่ก่อเหตุเป็นกลุ่มที่นิยมแนวทางการใช้ความรุนแรง ซึ่งกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ร่วมเข้าเป็นคณะที่พูดคุยสันติสุข

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้ทบทวนเรื่องฐานของทหาร เนื่องจากการตั้งอยู่ใกล้พื้นที่อ่อนไหวอาจเพิ่มความเสี่ยงได้นั้น พล.ท.นักรบอธิบายว่า ยิ่งหน่วยทหารตั้งห่างจากสถานที่เหล่านี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ก่อการก่อเหตุได้ง่ายขึ้น ส่วนเหตุที่ผู้ก่อความไม่สงบใช้ รพ.เจาะไอร้องเป็นฐานโจมตีเจ้าหน้าที่นั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ดีพอ

 

กุลธิดา สามะพุทธิ: รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง