พบฟอสซิลไดโนเสาร์มีขนที่อุซเบกิสถาน นักวิทยาศาสตร์เผยเป็นญาติ "ทีเร็กซ์"

Logo Thai PBS
พบฟอสซิลไดโนเสาร์มีขนที่อุซเบกิสถาน นักวิทยาศาสตร์เผยเป็นญาติ "ทีเร็กซ์"
นักบรรพชีวินวิทยาแห่งสถาบันสมิธโซเนียนขุดค้นพบฟอสซิลไดไนเสาร์สกุลไทแรนโนซอรัสที่มีอายุ 90 ล้านปี ในทะเลทรายที่อุซเบกิสถาน เชื่อว่าเป็น "ญาติ" ของ "ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์" หรือ "ทีเร็กซ์" ไดโนเสาร์นักล่าที่โด่งดัง

ฮานส์ ซูส์ นักบรรพชีวินวิทยาประจำสถาบันสมิธโซเนียนแถลงข่าวการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า "ทิเมอร์เลนเกีย ยูโอติกา" (Timurlengia euotica) ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.2559) ฮานส์อธิบายว่าไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่ค้นพบใหม่นี้มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียส ขนาดใกล้เคียงกับม้า มีขนปกคลุม และมีชีวิตอยู่ในแถบเอเชียกลางเมื่อประมาณ 90 ล้านปีก่อน ที่น่าสนใจก็คือมันเป็น "ญาติ" ของไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือที่รู้จักกันว่า "ทีเร็กซ์" ไดโนเสาร์นักล่าที่ดุร้าย

ทิเมอร์เลนเกียหนักประมาณ 600 ปอนด์ และมีขนาดเล็กกว่าทีเร็กซ์ซึ่งหนักถึง 7 ตัน แม้จะมีขนาดเล็กกว่าแต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าทิเมอร์เลนเกียมีพัฒนาการทางสมอง ความสามารถทางการได้ยินที่ดีเลิศ สายตาดีเยี่ยมและมีประสาทการรับกลิ่นที่ดีมาก ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุให้ไดโนเสาร์ที่วิวัฒนาการต่อมาอย่างเจ้าทีเร็กซ์เป็นนักล่าที่เก่งกาจและพัฒนาจนมีร่างกายใหญ่โตขึ้นมาได้

 

ฟอสซิลที่พบในครั้งนี้ประกอบด้วยกระโหลกและชิ้นส่วนกระดูกจำนวนหนึ่ง แม้ฟอสซิลที่พบจะมีจำนวนไม่มากแต่มันทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจวิวัฒนาการของทีเร็กซ์ได้ดีขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วยตอบข้อสงสัยที่ว่าเพราะเหตุใดทีเร็กซ์ถึงกลายเป็นนักล่าที่เก่งกาจและมีร่างกายมหึมา

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองและประสาทสัมผัสของทีเร็กซ์พัฒนาขึ้นได้เพราะมันมีร่างกายที่ใหญ่โต แต่ทิเมอร์เลนเกีย ยูโอทิกา ซึ่งแปลว่าสัตว์ที่มี "การได้ยินเป็นเลิศ" ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วไดโนเสาร์สกุลไทแรนโนซอรัสมีพัฒนาการทางสมองที่ซับซ้อนและมีประสาทสัมผัสทั้งการได้ยิน การมองเห็นและการได้กลิ่นที่ดีเยี่ยมมานานแล้ว 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง