โซนี่ซื้อหุ้นค่ายเพลงใหญ่ต่อจากไมเคิล แจ็คสัน

ศิลปะ-บันเทิง
17 มี.ค. 59
11:55
561
Logo Thai PBS
โซนี่ซื้อหุ้นค่ายเพลงใหญ่ต่อจากไมเคิล แจ็คสัน
หลังจากบริษัท Sony กับ Michael Jackson ร่วมกันเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในวงการดนตรีอเมริกันมานาน ล่าสุด โซนี่ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในส่วนของราชาเพลงป๊อป ทำให้โซนี่กลายเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แม้จะจากไปแล้วแต่มรดกพันล้านยังคงทำเงินงอกเงยให้อยู่ สำหรับ Michael Jackson หลังจากล่าสุดมีการรายงานว่าบริษัท Sony ได้ตกลงซื้อหุ้นของบริษัท Sony/ATV Music Publishing ในส่วนของราชาเพลงป๊อปที่ถือไว้ทั้งหมด 50% แล้วด้วยจำนวนเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 26,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาหนี้สินของที่ Jackson คงค้างไว้อีก 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการเสียชีวิตในปี 2009

ขณะเดียวกัน จะทำให้ Sony มีสิทธิ์เข้าควบคุมทั้งบริษัท และกลายเป็นค่ายเพลงผู้จัดจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผลงานในสังกัดประมาณ 3 ล้านเพลงที่เป็นของนักร้องระดับโลกมากมายทั้งสายป๊อปอย่าง Taylor Swift, Mark Ronson, Ed Sheeran, Beyonce, Lady Gaga สายร็อคอย่าง Manic Street Preachers หรือกระทั่งตำนานดนตรีอย่าง Bob Dylan ด้วย

คนหนึ่งที่คงแอบช้ำใจกับการขายหุ้นครั้งนี้น่าจะเป็น Paul McCartney เพราะเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ชอบใจนักที่จะต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ผลงานดังของ The Beatles หลายๆ เพลงของเขาอย่าง Yesterday หรือ Let It Be ให้กับ Jackson แม้ว่าเขาเองจะเป็นคนสอน Jackson ให้รู้จักเรื่องการลงทุนกับลิขสิทธิ์เพลง และคงคาดไม่ถึงว่าสุดท้ายแล้วลิขสิทธิ์ผลงานของตัวเองจะตกไปอยู่ในมือของ Jackson ก็ตาม โดยนักวิเคราะห์มองว่าการขายหุ้นคราวนี้ถึงจะเปลี่ยนมือ แต่เซอร์พอลมีโอกาสซื้อผลงานตัวเองคืนมากขึ้น

หุ้นบริษัท ATV Music Publishing นั้นแต่เดิมเป็นของนักธุรกิจชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งขายให้กับ Jackson ด้วยราคา 41.5 ล้านดอลลาร์ในปี 1985 ซึ่งผู้บริหารมรดกของ Jackson บอกว่า นี่คือการลงทุนที่ฉลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี เพราะหลังจากนั้นเขานำหุ้นส่วนนี้มาตกลงร่วมกับ Sony ปั้นค่ายเพลงมาจนเติบใหญ่ แสดงถึงวิสัยทัศน์ของตำนานเพลงป๊อปที่นอกจากจะทำเพลงที่คนทั่วโลกพากันชื่นชอบแล้ว ยังรู้ทันเกมธุรกิจอีกด้วย

แม้ราคาขายจะสูงถึง 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นักวิเคราะห์ยังมองว่าถูกไปด้วยซ้ำ เนื่องจากปัจจุบันกำไรของเพลงไม่ได้อยู่ที่การขายแผ่นซีดีอีกแล้ว แต่อยู่ที่โมเดลการขายผลงานแบบสตรีมมิ่ง ซึ่งผู้ถือลิขสิทธิ์จะได้เงินมากที่สุด เช่นเดียวกับการนำเพลงไปใช้ในหนัง ทีวี หรือวิดีโอเกม ซึ่งต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทั้งนั้น อย่างซีรีส์ดังอย่างเรื่อง Mad Men เคยนำเพลง "Tomorrow Never Knows" ของ The Beatles มาใช้ ต้องจ่ายเงินถึง 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 9 ล้านบาท แม้ว่าจะได้นำมาเปิดแค่ตอนเดียวจากทั้งเรื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง