กทม.เตรียมเข้ารื้อชุมชนป้อมมหากาฬ พ.ค.นี้ แจงกำลังร่างหนังสือปิดประกาศ

สังคม
18 มี.ค. 59
12:40
374
Logo Thai PBS
กทม.เตรียมเข้ารื้อชุมชนป้อมมหากาฬ พ.ค.นี้ แจงกำลังร่างหนังสือปิดประกาศ
กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างร่างหนังสือปิดประกาศให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬย้ายออกจากพื้นที่ ก่อนจะลงพื้นที่ดำเนินการรื้อถอน โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ยืนยันดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (18 มี.ค.2559) นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการรื้อย้ายบ้านเรือนประชาชนบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬดำเนินการตามกฎหมายกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อนำพื้นที่มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ มีผลให้ชุมชนต้องรื้อย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ผ่อนผันไปก่อน กทม.จึงไม่ได้เข้าไปดำเนินการรื้อถอน ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 24 ปี ล่าสุดผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้รื้อย้ายชุมชน เนื่องจากถูกเร่งรัดจากผู้ตรวจการแผ่นดินให้ดำเนินการ ยืนยัน กทม.ให้ระยะเวลากับชาวบ้านมาพอสมควรแล้ว

จากการตรวจสอบพบผู้อยู่อาศัยที่โอนบ้าน รับเงินช่วยเหลือเยียวยา และยอมย้ายออกจากพื้นที่จำนวน 42 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 56 หลังคาเรือน เหลือเพียง 16 หลังคาเรือน ที่ยังไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างหนังสือปิดประกาศย้ายออกจากพื้นที่แจ้งให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬรับทราบ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากปิดประกาศจะให้เวลา 30 วัน เพื่อย้ายออกจากพื้นที่ โดยส่วนที่ยินยอมย้ายออกจากพื้นที่ กทม.จะอำนวยความสะดวกเรื่องการขนย้ายสิ่งของ ส่วนการดำเนินการรื้อถอนจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2559

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ชุมชนป้อมมหากาฬได้ออกแถลงการณ์ว่า ชุมชนยังไม่ได้รับหนังสือหรือจดหมายแจ้งมาจากกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ ทราบเพียงจากการรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชน ทั้งนี้ ชุมชนไม่ขัดขวางต่อการพัฒนาสวนสาธารณะ พร้อมแสดงจุดยืนว่าจะให้การต้อนรับเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ารื้อสิ่งปลูกสร้าง ขณะเดียวกันได้ตั้งคำถามกับ กทม.ว่าจะมีแผนรองรับการจัดหาที่อยู่ใหม่ การประกอบอาชีพ การสัญจรเดินทาง และการศึกษาของเยาวชนในชุมชนอย่างเป็นระบบหรือไม่และจะดำเนินการอย่างไร ชุมชนป้อมมหากาฬ ได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ ขอจัดตั้งเวรยามเพื่อรักษาความปลอดภัย ขออาสาดูแลรักษาความสะอาดสวนสาธารณะ ชุมชนจะพัฒนาให้เป็นตัวอย่างของชุมชนที่อยู่ร่วมกับสวนสาธารณะได้ และ กทม.จะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจากชุมชน

ชาวชุมชนยังตั้งคำถามถึงแนวทางจัดการของ กทม.ทั้งที่ชุมชนนี้ เป็นเขตเมืองเก่า มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และการศึกษาวิจัย รวมถึงขอให้ กทม.ทำประชาพิจารณ์ เปิดพื้นที่เจรจาจากทุกกลุ่มเพื่อการแก้ปัญหา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง