วสท.ชี้ผู้เสียชีวิตที่เอสซีบีปาร์คเกิดจากสาร "แอโรซอล" เสนอทบทวนข้อดี-ข้อเสีย

อาชญากรรม
18 มี.ค. 59
12:57
263
Logo Thai PBS
วสท.ชี้ผู้เสียชีวิตที่เอสซีบีปาร์คเกิดจากสาร "แอโรซอล" เสนอทบทวนข้อดี-ข้อเสีย
วสท.ถอดบทเรียนระบบดับเพลิงอัตโนมัติ "แอโรซอล" อาคารเอสซีบีปาร์คขัดข้อง เพราะมีสิ่งกระตุ้นให้ระบบทำงานและพ่นสารแอโรซอลออกมา ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตไม่ใช่เพราะขาดออกซิเจน แต่เกิดจากการหายใจเอาสารแอโรซอลเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป พร้อมเสนอให้ทบทวนข้อดีข้อเสีย

ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) กล่าวว่า กรณีที่ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ "แอโรซอล " หรือชื่อทางการค้าคือระบบ "ไพโรเจน" อาคารเอสซีบีปาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำงานระหว่างที่ผู้รับเหมาเข้าไปติดตั้งเปลี่ยนระบบป้องกันเพลิงไหม้เป็นระบบไนโตรเจนนั้น ไม่ได้เกิดจากเหตุไฟไหม้ แต่คาดว่ามีสิ่งกระตุ้นจากควันหรือฝุ่นที่สะสมจากการทำงานของช่างหลายวัน ทำให้ตัวดักจับหรือสโมคดีแทรคเตอร์ ของระบบดับเพลิงเดิมตรวจจับควันที่ออกมาและพ่นสารดับเพลิงแอโรซอล ซึ่งเป็นฝุ่นผงที่มีความละเอียดสูงขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนทั่วห้อง

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้อยู่ในเหตุการณ์ จึงเป็นเพราะสูดสารแอโรซอลเข้าร่างกายมากเกินกว่าที่จะรับไหว ทำให้ระบบหายใจเกิดภาวะเต้นผิดปกติ เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน ไม่ใช่เพราะขาดออกซิเจน เพราะระบบนี้ไม่ได้กำจัดออกซิเจน

น.ส.บุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท. กล่าวว่า ระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่ติดตั้งโดยทั่วไปมีทั้งระบบกระจายน้ำดับเพลิง หรือสปริงเกอร์ แต่ระบบดับเพลิงด้วยสารสะอาดหรือสารพิเศษหรือก๊าซดับเพลิง คือ แอโรซอล, สารสะอาด เช่น FM-200, ไนโตรเจน, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ถึงแม้ไม่ได้ติดตั้งในพื้นที่ทั่วอาคาร และเลือกติดตั้งในห้องที่มีความสำคัญ เช่น ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า หรือห้องเก็บอุปกรณ์ที่ป้องกันความเสียหายจากน้ำ แต่จากเหตุการณ์ที่อาคารเอสซีบี ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องทบทวนถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่อสุขภาพและอันตรายต่อชีวิต รวมถึงกำหนดมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการตรวจสอบบำรุงรักษาตามมาตรฐาน

ด้านนายวิเชียร บุษบัญฑูร ที่ปรึกษาอนุกรรมการความปลอดภัยอัคคีภัย วสท. กล่าวว่า เจ้าของสถานที่ รวมถึงนายจ้างต้องดำเนินการตามกฎหมายส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมการทำงาน ปี 2554 โดยมีการประเมินความเสี่ยงในการทำงานทุกขั้นตอน หรือการตัดระบบเพื่อความปลอดภัยก่อนให้คนงานเข้าทำงาน หรือหากไม่ตัดระบบต้องมีแผนการทำงาน เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งแผนช่วยเหลือที่ชัดเจนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง