ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตฯ เผยไฟป่ารุนแรงเกิดจากป้องกัน-ควบคุมไม่ถูกประเภทของป่า

สิ่งแวดล้อม
22 มี.ค. 59
15:27
226
Logo Thai PBS
ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตฯ เผยไฟป่ารุนแรงเกิดจากป้องกัน-ควบคุมไม่ถูกประเภทของป่า
ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติเผยสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงเกิดจากการป้องกันและควบคุมไฟป่าที่ไม่ถูกกับประเภทของป่า พร้อมแนะภาครัฐทบทวนแผนงาน

 

วันนี้ (22 มี.ค.2559) นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนแผนงาน เนื่องจากสถานการณ์ที่รุนแรง ส่วนใหญ่เกิดมาจากการป้องกันและควบคุมไฟป่าที่ไม่ถูกกับประเภทของป่าอย่างกรณีป่าแก่งกระจาน ซึ่งบริเวณจุดที่ไหว เกิดในบริเวณป่าไผ่ หรือป่าเบญจพรรณที่ไม่เคยเกิดไฟไหม้มาเป็นเวลา 20 ปี ทำให้เกิดการสะสมเชื้อไฟ เมื่อสะสมเชื้อไฟมาก ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ยาวนานและดับยาก จนลุกลามเข้าไปสู่ป่าดงดิบแล้ว

สำหรับพื้นที่ป่าที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการไหม้ คือป่าประเภทป่าดงดิบ เพราะป่าดงดิบมีความชื้นสูง ทนไฟไม่ได้ เป็นสังคมพืชที่ไม่ทนไฟ เมื่อเกิดไฟไหม้จะทำให้ต้นไม้ที่สมบูรณ์ตายได้ ส่วนป่าประเภทป่าเบญจพรรณ หรือป่าไม้ควรปล่อยให้ไหม้ทุกปี เพื่อไม่ให้เชื้อไฟสะสม

นายธีรวัธน์ กล่าวว่า ป่าเบญจพรรณเมื่อเกิดไฟไหม้ ไม่ได้เสียหาย ซึ่งถ้าปล่อยให้ป่าเบญจพรรณเกิดไฟไหม้ทุกปี ความปลอดภัยที่จะเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าดงดิบในกรณีที่มีลักษณะป่าผสม จะเกิดความเสี่ยงน้อยลง มีความปลอดภัยสูงกว่า และจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำแนวกันไฟ โดยไม่ต้องทำกว้าง เพราะหากปล่อยให้ไฟไหม้ทุกปี เชื้อไฟไม่มีการสะสม ไฟก็จะดับเองตามเชื้อไฟที่มี

สาเหตุของการเกิดไฟป่านั้นจะเกิดจากมนุษย์หรือธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเถียงกัน เพราะมันเกิดจากมนุษย์อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา มักนำไปตีความว่าเกิดจากการลักลอบจุด ซึ่งจริงๆ แล้วมนุษย์ทำให้เกิดไฟป่าได้หลายสาเหตุ อยู่ห่างเป็น 100 กิโลเมตร ก็ทำให้เกิดไฟป่าได้

ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ภาครัฐควรจะมีแผนการจัดการไฟป่า โดยนำหลักวิชาการมาประยุกต์ใช้ในแต่ละพื้นที่ที่มีลักษณะป่าที่แตกต่างกัน โดยต้องมีการแยกประเภทของป่า พื้นที่จะมีแผนในการป้องกันที่แตกต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาใช้แผนการเดียวกันทั้งประเทศ คือการป้องกันไฟป่า การทำแนวกันไฟ เป้าหมายคือการควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อไฟในป่าสะสมมาในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นป่าที่สมควรไหม้ทุกปี

"ป่าเบญจพรรณจะไม่เสียหายเลย ถ้าเทียบกับป่าดงดิบ เพราะป่าเบญจพรรณ เป็นป่าไผ่ที่แห้ง เมื่อไฟไหม้ ก็แตกต้นใหม่ในช่วงหน้าฝน ทำให้ไฟที่ไหม้ในป่าแบบนี้ จะมีประโยชน์กับป่ามากกว่าการป้องกัน ดังนั้น ป่าประเภทนี้ปล่อยให้ไหม้ไปตามธรรมชาติ สิ่งที่มนุษย์ต้องทำ คือป้องกันอย่าให้ลามเข้าไปในป่าดงดิบ เพราะความเสียหายมีมากกว่า" นายธีรวัธน์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ที่รุนแรงของไฟป่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่แล้งจัดหรือไม่แล้ง แต่อากาศแล้งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงของสถานการณ์ เกิดจากเชื้อไฟที่มีมากหรือมีน้อย อย่างกรณีแก่งกระจานมีมาก เพราะว่าไม่เคยเกิดไฟไหม้มา 20 ปี ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง

ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในผืนป่าแก่งกระจาน ไม่เกี่ยวข้อง และไม่กระทบกับการประเมินพื้นที่มรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจาน เพราะว่าคณะกรรมการ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มีความรู้มากพอในการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น กรณีไฟป่าที่ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ก็ยังไม่กระทบกับความเป็นมรดกโลก เพราะเขาเข้าใจลักษณะของป่าในพื้นที่นั้นๆ แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาต่อจากนี้ คือในผืนที่แก่งกระจานอาจจะต้องมีแผนงานในการจัดการไฟป่าในพื้นที่ที่ชัดเจนมากขึ้น และเหมาะสมกับสภาพของผืนป่ามากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง