นายกฯ เผยรถไฟความเร็วสูง เน้นคนไทยจัดการพื้นที่สองข้างทางเอง ปักหมุด ก.ค.นี้ดำเนินการได้

การเมือง
25 มี.ค. 59
22:09
189
Logo Thai PBS
นายกฯ เผยรถไฟความเร็วสูง เน้นคนไทยจัดการพื้นที่สองข้างทางเอง ปักหมุด ก.ค.นี้ดำเนินการได้
นายกฯ กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่อยากให้เปรียบเทียบวงเงินโครงการเก่า เหตุเป็นคนละสถานการณ์ ระบุเริ่มดำเนินการได้เดือน ก.ค.นี้ ย้ำถ้าไม่ทำ พัฒนาไม่ทันประเทศอื่น

วันนี้ (25 มี.ค.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ กรณีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ที่ได้ข้อยุติแล้วว่าไทยจะเป็นฝ่ายลงทุนเองทั้งหมดนั้น ได้รูปแบบความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือจีทูจี โดยไทยลงทุนดำเนินการทั้งหมดทุกขั้นตอน ไม่มีการให้สัมปทานหรือการร่วมทุนใดๆกับจีน เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าไทยมีศักยภาพทำได้ โดยโครงการนี้จะเป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกในเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร โดยใช้เทคโนโลยีจากจีนในการก่อสร้าง ส่วนในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการก่อสร้างและการบริหารการเดินรถ เป็นส่วนที่ไทยรับผิดชอบ ซึ่งจะกลับไปใช้รูปแบบรถไฟความเร็วสูงจากก่อนหน้านี้มีข้อสรุปทำรถไฟความเร็วปานกลาง เนื่องจากเห็นว่าหากไทยไม่ทำความเร็วสูงจะพัฒนาตามประเทศอื่นไม่ทัน โดยมีเป้าหมายเน้นไปไที่การเคลื่อนย้ายขนส่งคนเป็นหลัก

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคม ระบุว่าเงื่อนไขที่ทำให้ไทยไม่สามารถรับข้อเสนอของจีนได้ คือ สัมปทานพื้นที่ 2 ข้างทางของเส้นทางรถไฟ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องการเน้นการบริหารจัดการพื้นที่สองข้างทางโดยคนไทย โดยอาจจะเป็นในลักษณะการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและเอกชน หรือรูปแบบพีพีพี นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการวิจารณ์เรื่องวงเงินงบประมาณในการลงทุนว่า อย่าใช้ตัวเลขวงเงินเดิมมาพิจารณา เนื่องจากเป็นคนละสถานการณ์ ความคุ้มค่าของโครงการต่างกัน ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่าการดำเนินการจะเริ่มต้นขึ้นได้ในเดือน ก.ค.นี้

"ผมจำเป็นต้องตัดสินใจ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เกิดงาน ไม่เกิดการจ้าง ไม่เกิดอะไรใหม่ ๆ เลย และก็บอกว่ารัฐบาลบริหารเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมจึงอยากขอร้องว่าอะไรที่จะเกิดประโยชน์ขอให้ช่วยกัน อย่าคัดค้านกันเลย มีปัญหาอะไรอยากให้รัฐแก้ปัญหาให้ เราก็แก้ปัญหาให้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนการจะสร้างเส้นทางรถไฟไปยังพื้นที่อื่น นายกฯ กล่าวว่า ต่อไปอาจขยายเส้นทางไปยังภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ตะวันตก อาจจะมี 3-4 เส้นทาง หากมีศักยภาพเพียงพอน่าจะเกิดขึ้นได้ ส่วนการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านการค้าขายไปสู่ทวีปอื่นๆ ต่อไปประเทศไทย อาจสร้างระบบการขนส่งทางรางของภูมิภาคและเชื่อมต่อไปยังเอเชีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง