กทม.รับช่วงบริหาร "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" นับถอยหลังเปิดใช้ปี 2562

เศรษฐกิจ
28 มี.ค. 59
20:05
473
Logo Thai PBS
กทม.รับช่วงบริหาร "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" นับถอยหลังเปิดใช้ปี 2562
กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อมอบให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงวันนี้ (28 มี.ค.2559) ว่าได้หารือกับผู้บริหารบีทีเอสเพื่อทำหน้าที่ให้บริการเดินรถ แต่ในส่วนการกำหนดอัตราค่าโดยสาร กทม.จะคำนวณตามจำนวนผู้โดยสาร และจำนวนเที่ยววิ่งซึ่งจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน โดยหากมีภาระค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ก็พร้อมใช้งบประมาณของ กทม.

"วันนี้นับเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือในมิติใหม่ คือ รฟม.เป็นผู้ก่อสร้างส่วนต่อขยายจากหมอชิตไปสะพานใหม่และคูคต และจากแบริ่งไปสมุทรปราการ และมอบให้ กทม.บริหารจัดการ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการร่วมมือแบบนี้จะให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวก ปลอดภัยและประหยัดยิ่งขึ้น และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม เปิดโอกาสให้กระทรวงคมนาคมบริหารจัดการระบบรถไฟฟ้าที่อยู่นอกอาณาเขตกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก" ม.ร.ว.สุขุมพันธ์กล่าว

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ รฟม.กล่าวว่าถึงแม้ว่า รฟม.จะเริ่มงานโยธาของโครงการนี้มาพอสมควรแล้ว แต่เมื่อคำนึงถึงความสะดวกในการเดินรถที่ต่อเนื่องและประโยชน์ของประชาชนแล้ว การร่วมมือกับ กทม.หรือบีทีเอสที่จะเข้ามาเดินรถน่าจะเป็นการดีที่สุด

"สำหรับโครงการนี้ทาง รฟม.ไม่ได้คิดอะไรแล้ว เราคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก อะไรที่จะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก และได้ประโยชน์สูงสุด หน่วยงานไหนจะดำเนินการก็ไม่มีปัญหา" พล.อ.ยอดยุทธกล่าว "การเดินรถโดยหน่วยงานเดียวจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์คือมีความต่อเนื่อง สะดวกในการเชื่อมต่อ ค่าโดยสารแรกขึ้นจะเก็บครั้งเดียวซึ่งดีต่อผู้ใช้บริการ"

พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่าเอ็มโอยูที่ลงนามในวันนี้เป็นการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) มีมูลค่าการลงทุน 21,000 ล้านบาท และสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มูลค่าการลงทุนประมาณ 39,000 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 60,000 ล้านบาท

สำหรับภาระหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนก่อสร้างทั้งสองเส้นทางจำนวนเกือบ 60,000 ล้านบาทนั้น จะมีคณะกรรมการจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเข้ามากำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการหนี้ต่อไป พล.อ.ยอดยุทธกล่าวและระบุว่าขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 70 และคาดว่าแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2560

"หลังจากลงนามเอ็มโอยูในวันนี้แล้วก็เป็นหน้าที่ของ กทม.ที่จะต้องสานต่อโครงการเพื่อเปิดการเดินรถให้เร็วที่สุด" พล.อ.ยอดยุทธกล่าว

ส่วนความคืบหน้าการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินเพื่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า หลังช่วงสงกรานต์จะเริ่มทยอยรื้อสาธารณูปโภคในบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งล่าช้าจากเดิมไปเล็กน้อย แต่จะไม่ส่งผลต่อเป้าหมายที่จะเปิดใช้บริการในปี 2562

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง