วิทยุการบินหวั่น "บั้งไฟ" ทำไทยไม่ผ่านประเมินความปลอดภัย ICAO

8 มิ.ย. 58
13:15
615
Logo Thai PBS
วิทยุการบินหวั่น "บั้งไฟ" ทำไทยไม่ผ่านประเมินความปลอดภัย ICAO

ความถี่ ปริมาณการจุด รวมถึงขนาดของ "บั้งไฟ" ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเริ่มปรากฏในพื้นที่อื่นอย่างภาคเหนือและภาคกลางทำให้วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ แสดงความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อการตรวจมาตรฐานด้านความปลอดภัยการบินของไทยโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO ในปี 2559

นายทินกร ชูวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ (บริหารจราจรทางอากาศ) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า หลังจากมีข้อตกลงให้ประชาชนให้พื้นที่ แจ้งหน่วยงานปกครองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า ก่อนทำการจุดบั้งไฟตลอดฤดูกาลประเพณีบุญบั้งไฟ ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนของทุกปี พบว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือแจ้งก่อนจุดมากขึ้นตลอด 3-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางวิทยุการบินฯ ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาจัดเส้นทางจราจรทางอากาศและรายงานให้นักบินแต่ละสายการบินทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น  อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้รับแจ้งนั้นไม่สามารถบอกได้ว่ามีการจุดมากขึ้นหรือไม่ เพราะอาจเป็นผลจากการที่ประชาชนให้ความร่วมมือในการแจ้งมากขึ้น

นายทินกรกล่าวว่า สำหรับปี 2558 มีรายงานการขออนุญาตจุดบั้งไฟระหว่างวันที่ 7 – 25 พ.ค. จำนวน 423 จุด จำนวนบั้งไฟ 18,746 ลูก ใน 18 จังหวัดภาคอีสาน (ไม่รวม จ.บึงกาฬ) และในอีก 4 จังหวัดในภาคอื่นๆ เช่น จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.กำแพงเพชร โดยจังหวัดที่มีรายงานการขออนุญาตจุดมากที่สุดคือ จ.อุดรธานี จำนวน 70 จุด รองลงมาคือ จ.ขอนแก่น 57 จุด และ จ.ศรีสะเกษ 49 จุด ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณจุดบั้งไฟมากที่สุดคือ จ.อุดรธานี  5,955 ลูก  จ.ขอนแก่น 1,653 ลูก และ จ.สุรินทร์ 1,475 ลูก

ขณะนี้ วิทยุการบินฯ กำลังรวบรวมสถิติการจุดบั้งไฟโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งต้องรอให้หมดเทศกาลบุญบั้งไฟในเดือนมิถุนายนเสียก่อน

ในประเด็นเรื่องการจุดบั้งไฟกับความปลอดภัยของการบินนั้น ผู้อำนวยการใหญ่ (บริหารจราจรทางอากาศ) วิทยุการ บินฯ อธิบายว่า โดยปกติแต่ละสนามบินที่วิทยุการบินฯ ดูแล จะมีรัศมีเฝ้าระวังการบินแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ บริเวณเขตท่าอากาศยาน หรือ Aerodrome Control Service กำหนดระยะที่ 5 ไมล์ทะเลในแนวราบ หรือ 9.2 กิโลเมตร จากนั้นจะเป็นเขตประชิดท่าอากาศยาน หรือ Approach Control Service ที่เครื่องบินยกตัวขึ้นตั้งแต่ความสูงที่ 2,000 ฟุต หรือ 600 เมตร จนถึง 12,000 ฟุต หรือเกือบ 4 กิโลเมตร จากนั้นจะเป็นเขตเส้นทางการบินที่ไปยังจุดหมายปลายทางระดับความสูงตั้งแต่ 12,000 ฟุต จนถึง 30,000-35,000 ฟุต

ขณะที่ปัจจุบัน ความสูงของบั้งไฟมีระยะตั้งแต่ 5,000 ฟุต (1.5 กม.) - 35,000 ฟุต (11 กม.) แต่ความสูงที่พบมากที่สุด คือ 5,000 ฟุต (1.5 กม.) และ 10,000 ฟุต (3 กม.) ซึ่งเป็นระยะที่เป็นอันตรายต่อรัศมีการเฝ้าระวังการบินระดับท่าอากาศยานและเขตประชิดท่าอากาศยานที่เครื่องบินกำลังยกตัวขึ้นและลงจอดยังภาคพื้น เพราะพบว่ายังมีการจุดบั้งไฟโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่อยู่จำนวนไม่น้อย  นอกจากนี้ยังพบบั้งไฟที่มีระดับความสูง 30,000 ฟุต (9.14 กม.) ที่สัมพันธ์กับเพดานการบินของเครื่องบินมากที่สุด เนื่องจากอยู่ในเขตเส้นทางการบินเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งเริ่มมีการพบเห็นบั้งไฟในลักษณะจุดโดยไม่แจ้งล่วงหน้าแต่มีจำนวนไม่มาก และนานๆ ครั้งจะพบบั้งไฟที่ระดับความสูง 35,000 ฟุต หรือเกือบ 11 กม.อีกด้วย

                           

<"">

"ถึงจะมีการแจ้งเตือน แต่วันที่ 22 พ.ค.2558 นักบินยังรายงานว่าพบการยิงบั้งไฟในเส้นทางระหว่างบินแม้อยู่นอกรัศมีการเฝ้าระวังถึง 10 สนามบิน ในระดับความสูงไม่เกิน 10,000-15,000 ฟุต และเมื่อสืบค้นข้อมูลของปี 2557 พบว่ามีการจุดบั้งไฟโดยไม่แจ้งถึง 107 ลูก เทียบกับปี 2556 ที่มีแค่ 34 ลูก" นายทินกรระบุ
 
ทั้งนี้มีรายงานว่า จากปัญหาการจุดบั้งไฟ ทำให้สายการบินของประเทศลาวเปลี่ยนเส้นทางการบินเพื่อเลี่ยงพื้นที่จุดบั้งไฟ โดยยอมบินอ้อมเลาะเขตแดนภาคอีสานกว่า 96 กม. แต่สำหรับประเทศไทย การแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนเส้นทางการบินไม่สามารถทำได้เพราะผิดกฎการบิน เนื่องจากไม่อยู่ในห้วงอากาศที่กำหนด

นายทินกรกล่าวว่า กรณีการจุดบั้งไฟ อาจส่งผลต่อการพิจารณาด้านความปลอดภัยของระบบการบินของประเทศไทย ที่ ICAO จะเข้ามาตรวจสอบในปี 2559 ซึ่งนั่นหมายถึงผลกระทบอื่นที่อาจตามมาเป็นลูกโซ่ เพราะธุรกิจการบินของไทยขยายตัวอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนเที่ยวบินที่มุ่งสู่ภาคอีสานมีมากขึ้น เช่น จ.ขอนแก่น เพิ่มจาก 2-4 เที่ยวบินเป็นกว่า 10 เที่ยวบินต่อวัน ใน จ.อุดรธานี เพิ่มจาก 5-6 เป็น 20-30 เที่ยวบินต่อวัน

ข้อมูลการศึกษาของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ที่ระบุว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินของไทยเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งด้านขนาดและการแข่งขัน ซึ่งในปี 2556 สามารถทำรายได้ให้กับประเทศสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 13  สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่เผยข้อมูลการศึกษาภาพรวมธุรกิจการบินของไทยประจำปี 2556-2558 ไว้ว่า ปี 2556 จำนวนเที่ยวบินมาทำการบินผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักและรองของประเทศมีจำนวนสูงถึง 440,178 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ16 เมื่อเทียบกับปี 2555 ขณะที่ รายงานประจำปี 2554 ของ บริษัทวิทยุการบินฯ คาดการณ์แนวโน้มปริมาณจราจรทางอากาศจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทยในปี 2558 ว่าก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศถึง 2 ล้านล้านบาท

"นอกเหนือไปจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยังมีเรื่องภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ เลยไปถึงการถูกปิดน่านฟ้าของไทยเพื่อความปลอดภัยในการบินด้วยหรือไม่"
นายทินกรตั้งข้อสังเกตและกล่าวว่า การรับมือและป้องกันผลกระทบจากปัญหาบั้งไฟที่มีผลต่อความปลอดภัยของการบินในปีนี้ถือว่าเป็นรูปธรรมที่สุด เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 10 องค์กร ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อเดือนมกราคม 2558 โดยมีฝ่ายทหารเข้าช่วยเหลือ แต่การดำเนินการยังคงเป็นไปในลักษณะปราบปรามมากกว่าแก้ไขที่ต้นเหตุ

"ความจริงควรทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อบริหารจัดการทั้งในเชิงพื้นที่และช่วงเวลา เช่น กำหนดกรอบระยะเวลายิงบั้งไฟในแต่ละวันให้สัมพันธ์กับการนำเครื่องขึ้นบินหรือลงจอด ทั้งหมดก็เพื่อให้วัฒนธรรมอยู่ได้ เศรษฐกิจอยู่ได้ และความปลอดภัยอยู่ได้ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีประชุมกันอีกครั้งเพื่อหามาตรการที่เหมาะสม  แต่ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในท้องถิ่นต้องมีความเข้าใจว่าเรื่องนี้มีผลกระทบกว้างไกลอย่างไร" นายทินกรให้ความเห็น

ด้าน นายมัฆวาฬ สุวรรณกูฎ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการบินอุบลราชธานี วิทยุการบินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากมีข้อตกลงร่วมกันให้แจ้งจุดบั้งไฟก่อนจัดกิจกรรมเป็นเวลา 7 วัน และฝ่ายปกครองรณรงค์ขอความร่วมมืออย่างเข้มงวดในปีนี้ พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และยืนยันว่ายังไม่เคยเกิดกรณีบั้งไฟเฉี่ยวชนเครื่องบิน เนื่องจากมีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการในการเฝ้าระวังไม่ให้วัตถุใดๆ เข้าใกล้เครื่องบินได้ในระยะ 10 กม. ระหว่างทำการบินบนน่านฟ้า ซึ่งเป็นระยะปลอดภัยที่จะไม่ก่อปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อตัวเครื่องบิน

"ที่เห็นในคลิปวีดีโอ ว่ามีบั้งไฟเข้าใกล้เครื่องบินในระยะประชิด ในความเป็นจริงหากวัดตามระยะทางแล้วห่างจากเครื่องบินเป็น 10 กม.และที่ผ่านมาหากพบว่าเส้นทางการบินนั้นๆ มีการจุดบั้งไฟในปริมาณมากก็จะวางแผนเลี่ยงเส้นทางไว้ก่อน แต่หากเป็นการแอบจุดและพบอยู่ในเส้นทางการบินกะทันหัน ทางศูนย์ควบคุมการบินจะแจ้งให้นักบินทราบทันที พร้อมขอให้บินเบี่ยงไปทางซ้ายหรือขวา ก่อนให้รีบกลับเข้ามาในเส้นทางบินปกติให้เร็วที่สุด" ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการบินอุบลราชธานีอธิบายและย้ำว่า กรณีนี้ทุกฝ่ายต้องไม่ประมาทและการเฝ้าระวังหรือการกำหนดแนวทางป้องกันไว้จึงเป็นเรื่องที่ดีกว่า

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง