ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (3) : ชีวิตที่เปลี่ยนไปในหมู่บ้านอพยพ

สิ่งแวดล้อม
31 มี.ค. 59
16:38
294
Logo Thai PBS
ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (3) : ชีวิตที่เปลี่ยนไปในหมู่บ้านอพยพ
เรื่องราวของชาวบ้านที่กลายเป็น "ผู้อพยพ" เนื่องจากการสร้างเขื่อนอาจกลายเป็นเรื่องคุ้นหูไปแล้วในประเทศไทยที่มีการสร้างเขื่อนทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่มาแล้วนับร้อยแห่ง เรื่องราวเช่นเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา

ปี 2560 ชาวกัมพูชาในหมู่บ้านซเรกอร์และหมู่บ้านอื่นอีก 6 หมู่บ้านใน จ.สตึงเตรง ของกัมพูชากำลังจะต้องเปลี่ยนชีวิตจากคนริมน้ำเป็นคนในหมู่บ้านอพยพ เนื่องจากหมู่บ้านของพวกเขาอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเซซานตอนล่าง 2 ที่สร้างกั้นแม่น้ำเซซาน--แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เขื่อนแห่งนี้สร้างเสร็จไปแล้วร้อยละ 50 (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559) และคาดว่าจะเริ่มกักเก็บน้ำในปี 2560

ขณะนี้มีประชาชนที่ต้องอพยพมาลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อย้ายไปอยู่ใน "หมู่บ้านอพยพ" แล้ว 246 ครัวเรือนจาก 500 ครัวเรือนที่จะต้องอพยพจากหมู่บ้านเดิมไปยังที่ดินที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้

"ไม่อยากย้ายหรอก แต่เขาบอกให้ไป ก็ต้องไป..." อุม เพือ ชาวบ้านซเรกอร์วัย 55 ปี กล่าวขณะกำลังง่วนอยู่กับการทำขนมจีนเพื่อขายในตอนเช้า ครอบครัวของเธอเป็นหนึ่งใน 246 ครอบครัวที่แจ้งกับทางการว่าพร้อมจะย้ายไปหมู่บ้านอพยพ เธอบอกกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า เหตุที่ครอบครัวของเธอยอมย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านอพยพเพราะไม่อยากมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ

ตามเงื่อนไขของรัฐบาล ชาวบ้านที่จะต้องอพยพมีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้เจ้าหน้าที่สร้างบ้านให้หรือจะรับเงิน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปสร้างบ้านเอง ครอบครัวของอุม เพือ เลือกให้ทางการสร้างบ้านให้ ซึ่งนั่นหมายความว่าเธอจะไม่ได้เงิน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังได้ค่าชดเชยสำหรับต้นไม้และพืชผลบางส่วน

ค่าชดเชยต้นไม้และพืชผลที่ทางการกำหนดเริ่มต้นตั้งแต่ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น ต้นมะม่วงหิมพานต์จะได้ค่าชดเชยต้นละ 4-8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับขนาดต้นไม้ขนาดกลางได้ค่าชดเชยต้นละ 15-18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต้นมะพร้าวได้ค่าชดเชยสูงสุดที่ต้นละ 25-28 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

 

ทุกวันนี้อุม เพือ และลูกๆ อีก 6 คน หาเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมจีนและขนมหวานขายในหมู่บ้าน รวมทั้งทำนา ทำไร่และหาปลาบ้าง แม้จะแจ้งความยินยอมในการไปอยู่ที่บ้านใหม่แล้ว แต่อนาคตที่บ้านใหม่ในหมู่บ้านอพยพที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านซเรกอร์ประมาณ 7 กิโลเมตรนั้นยังมืดมน เธอบอกว่ายังไม่รู้จะหารายได้จากที่ไหน เพราะที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ไม่มีแม่น้ำ เมื่อไม่มีน้ำก็ไม่มีปลาให้จับมาขาย ที่ดินทำกินก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่เก่า ชาวบ้านหลายคนบอกว่าที่ดินใหม่ที่รัฐจัดให้ทำการเกษตรไม่ได้

"ถ้าปลูกพืชอย่างอื่นไม่ได้ ก็คงปลูกมันสำปะหลัง ถั่ว ก็พอมีรายได้เท่าตอนอยู่ที่ซเรกอร์ บางทีคงได้แค่ขายขนมจีน แต่อย่างอื่นอาจทำไม่ได้" อุม เพือ กล่าว

นอกจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซซานแล้ว อีก 2 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซปรกซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำเซซาน คือ หมู่บ้านจร็อบและเซสนุกก็เป็นหมุ่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 เช่นกัน และชาวบ้านใน 2 หมู่บ้านนี้บางส่วนได้ย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านแห่งใหม่ที่รัฐบาลจัดพื้นที่ให้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558

หมู่บ้านจร็อบตั้งอยู่เหนือจุดสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ประมาณ 5 กิโลเมตร ทีมข่าวเดินทางเข้าไปที่หมู่บ้านจร็อบช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สิ่งที่พบมีเพียงที่ดินรกร้าง ร่องรอยของบ้านที่ถูกรื้อถอน อาคารร้างที่เคยเป็นโรงเรียนของเด็กๆ หมู่บ้านนี้มีประชากรราว 50 ครัวเรือน พวกเขามีแม่น้ำเซปรกเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต

ชาวบ้านจร็อบถูกย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านอพยพที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านเดิม 25 กิโลเมตร แต่ชาวบ้านหลายคนยังขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาหาปลาที่แม่น้ำเซปรกและนำปลามาขายที่ "สะพานเก่า" ใกล้หมู่บ้านเดิม ซึ่งเป็นจุดที่ชาวประมงนำปลาที่จับได้นำมาขายให้พ่อค้าที่จะส่งไปขายต่อที่ตัวเมืองสตึงเตรง ปลาที่จับได้มีปลาอิตุ น้ำหนักไม่น้อยกว่า 3 กิโลกรัม ปลาวาขนาดไล่เลี่ยกัน สะท้อนถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรปลาน้ำจืดของแม่น้ำเซปรก 

 

 

จากหมู่บ้านจร็อบ ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปที่หมู่บ้านใหม่ที่ทางการจัดให้ผู้อพยพจากการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2

หมู่บ้านอพยพตั้งอยู่ 2 ข้างถนนของทางหลวงสาย NH78 ที่เชื่อมระหว่างสตึงเตรง-รัตนะคีรี ที่หมู่บ้านอพยพแห่งนี้ ชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านจร็อบ เซสนุกและกบาลโรเมียะ ต้องมาอยู่รวมกันในพื้นที่ที่ถูกแบ่งออกเป็นโซน

บ้านที่สร้างให้ใหม่มีทั้งบ้านปูนและบ้านไม้ 2 ชั้น ใต้ถุนโล่งตามแบบบ้านท้องถิ่น ทุกบ้านมีแทงก์น้ำสีน้ำเงินตั้งอยู่เพื่อเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค

ที่บ้านหลังหนึ่ง ชาวบ้านเซสนุก 2 คนนั่งอยู่ใต้ถุนบ้านกับลูกหลาน ถ้ายังอยู่ที่หมู่บ้านเซสนุกเดิม ช่วงเวลาสายๆ อย่างนี้ชาวบ้านจะออกไปทำงานที่นาหรือสวน แต่ที่หมู่บ้านอพยพ ชาวบ้านบางครอบครัวยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน จึงกลายเป็นคนว่างงาน

 

ลุงเจ้าของบ้านบอกว่า ทางการจ่ายค่าชดเชยให้ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นค่าชดเชยสำหรับการสร้างบ้านและอีก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นค่าชดเชยสำหรับต้นไม้ ลุงนำเงินทั้งหมดมาสร้างบ้าน และยังรื้อไม้จากบ้านหลังเก่ามาสร้างบ้านให้ลูกชายในบริเวณเดียวกัน เพราะลูกชายไม่มีที่ดินสร้างบ้านเมื่อแยกครอบครัวออกมา

ชีวิตใหม่ที่หมู่บ้านใหม่นั้นไม่เหมือนเดิม ทั้งน้ำ ข้าว อาหาร ล้วนแต่ต้องใช้เงินซื้อ

"เขาขุดน้ำบ่อให้ แต่น้ำไม่พอใช้ เพราะคนใช้เยอะ เลยต้องซื้อเอา" เขาบอกพร้อมกับเล่าว่า ที่หมู่บ้านอพยพชาวบ้านต้องจ่ายเงินซื้อทั้งน้ำและข้าว ค่าน้ำถังละ 20,500 เรียล ส่วนปลาราคากิโลกรัมละ 12,000-15,000 เรียล เป็นค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวของเขาต้องใช้จ่ายทุกวัน การลงมือหว่านเมล็ดเพื่อปลูกผักกินในบ้านเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อไม่มีน้ำให้รดต้นไม้

ส่วนการทำประมงเพื่อยังชีพ ลุงเล่าว่าเขาต้องขี่มอเตอร์ไซค์กลับไปที่แม่น้ำเซปรกซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อไปหาปลา

แม้ว่าจะผ่านไปเกือบ 1 ปีแล้วที่คนจาก 3 หมู่บ้านริมแม่น้ำเซปรกต้องกลายเป็น "ผู้อพยพ" ใช้ชีวิตที่ไม่มีแม่น้ำเหมือนเก่าในหมู่บ้านใหม่ ทุกอย่างยังคงไม่ง่ายสำหรับพวกเขา และอีกไม่นาน ชาวบ้านซเรกอร์ที่จะต้องอพยพไปอยู่ในหมู่บ้านแห่งใหม่ก็อาจต้องประสบชะตาที่ไม่ต่างกัน

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงาน

หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 3 ของรายงานชุด "ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน: เขื่อนในกัมพูชากับอนาคตลุ่มน้ำสามเซ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส อินเตอร์นิวส์ และองค์การ PACT ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนทุนจำนวนหนึ่งในการผลิตสารคดีข่าวเพื่อสำรวจผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขงของประเทศกัมพูชา อ่านรายงานพิเศษและชมคลิปทั้งหมดได้ที่ www.thaipbs.or.th/sesandams

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง