เครือข่ายผู้ประกันตนเรียกร้องปรับสิทธิประโยชน์ทันตกรรม

สังคม
31 มี.ค. 59
17:57
1,200
Logo Thai PBS
เครือข่ายผู้ประกันตนเรียกร้องปรับสิทธิประโยชน์ทันตกรรม
เครือข่ายผู้ประกันตนคนทำงาน (คปค.) เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมปรับสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม ให้เท่าเทียมกับหลักประกันสุขภาพอื่นๆ เพราะการจำกัดเพดานวงเงินการเบิกจ่ายค่ารักษา โดยที่ผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายก่อน ส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิ

นายมณธณัฐ งามสม ผู้ใช้สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมกล่าวว่า แม้เขาจะมีสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมของประกันสังคม แต่ก็ไม่เคยใช้สิทธิดังกล่าวแต่จะใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาของบริษัทแทน เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมของประกันสังคมจำกัดวงเงินเบิกจ่ายค่ารักษาไว้ไม่เกินปีละ 600 บาท จึงไม่เพียงพอ เขาจึงเห็นว่า ควรนำสิทธิของผู้ประกันตนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เพิ่มสิทธิให้กับผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อย

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ประมาณ 12 ล้านคน ในปี 2558 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมเพียง 1,760,498 คน

มนัส โกศล ประธาน คปค.บอกว่า แม้ข้อดีสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมของประกันสังคม จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนเข้ารักษาในคลินิกเอกชนได้ ไม่ต้องลางาน และไปต่อคิวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ แต่การจำกัดวงเงินเบิกจ่ายค่ารักษาไว้ไม่เกินปีละ 600 บาท และให้ผู้ประกันตนสำรองจ่ายไปก่อน ทำให้ผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อยไม่กล้าเข้าไปรักษา กลัวว่าจะต้องจ่ายค่ารักษาแพง และเกินกว่าที่กำหนดไว้

คปค. จึงเห็นว่า สำนักงานประกันสังคมควรปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมพื้นฐานให้เท่าเทียมหลักประกันสุขภาพอื่นๆ ทั้งการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด และใส่ฟันเทียม สามารถรักษาในคลินิกเอกชนตามที่จำเป็น โดยไม่ต้องสำรองจ่าย และไม่จำกัดวงเงินในการรักษา

ในวันที่ 7 เม.ย.2559 คปค.จะหารือเพื่อยืนยันข้อสรุปข้อเรียกร้องและจะไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในวันที่ 8 เม.ย.นี้

ทพญ.มาลี วันทนาศิริ เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข เห็นตรงกันว่า สำนักงานประกันสังคมควรหาแนวทางสร้างความร่วมมือกับคลินิกเอกชนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนในเรื่องนี้

โกวิท สัจจวิเศษ ด้านเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า พร้อมรับฟังข้อเสนอ แต่เห็นว่าหากจะใช้ระบบการเหมาจ่ายนั้นสามารถที่จะใช้ได้กับโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลคู่สัญญาในสิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตนเลือกไว้เท่านั้น ซึ่งเคยใช้รูปแบบนี้เมื่อปี 2548 และประสบปัญหาเนื่องจากผู้ประกันตนต้องไปรอต่อแถวรักษานาน กระทบการทำงาน สำนักงานประกันสังคมจึงปรับสิทธิให้สามารถรักษาในคลินิกเอกชนได้ ตามวงเงินที่กำหนดไว้ ซึ่งจะไม่กระทบกับเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมเสียงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง