นัก กม.- นักวิชาการ-องค์กร สวล.จี้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ชี้ละเมิดสิทธิ-เหมารวมชาวบ้านเป็นผู้มีอิทธิพล

สิ่งแวดล้อม
1 เม.ย. 59
19:33
481
Logo Thai PBS
นัก กม.- นักวิชาการ-องค์กร สวล.จี้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ชี้ละเมิดสิทธิ-เหมารวมชาวบ้านเป็นผู้มีอิทธิพล
นักกฎหมาย นักวิชาการ และองค์กรสิ่งแวดล้อม 30 รายชื่อ จี้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ชี้ละเมิดสิทธิรุนแรง-เหมารวมชาวบ้านต่อสู้เพื่อชุมชน ทรัพยากร เป็นผู้มีอิทธิพล ปิดกั้นประชาชนแสดงความเห็น

วันนี้ (1 เม.ย.2559) นักกฎหมาย นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องหัวหน้า คสช.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2559 เรื่องการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แถลงการณ์ระบุว่า คำสั่งนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนและชุมชน ซึ่งจะรุนแรงกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ผ่านมา เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตีความได้ว่า แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และคัดค้านโครงการต่างๆ จะมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายความผิดตามคำสั่งนี้ นั่นคือเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวไปโดยไม่ต้องมีหมายศาล และโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาถึง 7 วัน

แถลงการณ์ได้ยกกรณีของนายละม่อม บุญยงค์ ชาวประมง จ.ระยอง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปฐานเป็นผู้มีอิทธิพล สาเหตุเนื่องจากนายอำเภอได้รับข่าวจะมีการนำชาวบ้านในพื้นที่ไปปิดล้อม และนายทวีศักดิ์ อินกว่าง แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะเชียงราก ที่ถูกทหารเรียกตัวให้ไปพบ โดยอ้างว่านายทวีศักดิ์ อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพล

"คำสั่งเหล่านี้ อาจทำให้ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์โครงการพัฒนาของรัฐ หรือแม้แต่โครงการที่ดำเนินการโดยเอกชนได้อีกต่อไป และอาจจะถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่ต้องการปราบปรามผู้มี อิทธิพล อันจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตแห่งตน และการแสดงออกการแสดงความคิดเห็น อีกทั้ง การใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ไม่อาจตรวจสอบ ได้ จะก่อให้เกิดการควบคุมตัว การตรวจค้น และการดำเนินการลงโทษใดๆ ตามอำเภอใจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในชีวิตร่างกายและเสรีภาพอย่างยิ่ง"

แลถงการณ์ได้เสนอให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 13/2559 ในทันที เช่นเดียวกับคำสั่งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงออกเพื่อการปกป้องและคุ้มครองสิทธิแห่งตน ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พร้อมแนบท้ายรายชื่อองค์กร และบุคคลในแถลงการณ์ดังกล่าว ทั้งหมด 43 รายชื่อ

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน Community Resource Centre Foundation (CRC)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice)
โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคแม่น้ำโขง
สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง
สถาบันอ้อผะหญา
สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
กลุ่มดินสอสี
ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิยา จ.ตรัง
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย
มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ
สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย
กรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมาย
ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ทนายความ
ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ
สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ภาคตะวันออก
ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
ประยงค์ ดอกลำไย
คำปิ่น อักษร
ศุภวรรณ ชนะสงคราม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง