ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (5): กัมพูชากับเป้าหมาย "พึ่งพาตัวเองได้ด้านพลังงาน"

สิ่งแวดล้อม
4 เม.ย. 59
17:09
456
Logo Thai PBS
ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (5): กัมพูชากับเป้าหมาย "พึ่งพาตัวเองได้ด้านพลังงาน"
เดือนมีนาคม 2559 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียประจำปี 2558 สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด 3 อันดับแรก คือ เมียนมา กัมพูชา และเวียดนามและลาวครองอันดับ 3 ร่วม

ปี 2558 เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 7 เมื่อย้อนดูในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโตเฉลี่ยที่ระดับนี้มาโดยตลอด รัฐบาลกัมพูชาประกาศว่า จะขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2030 ด้วยการผลักดันการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ขณะนี้มีอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นตัวชูโรง รวมทั้งภาคบริการ เป้าหมายดังกล่าวนำมาสู่ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม

 

นายชิม พัลโวรัน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและโฆษกพรรคประชาชนกัมพูชากล่าวว่า กัมพูชายังต้องการการลงทุนอยู่มาก ที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนหลายครั้งเพื่อสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน นอกจากนี้การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรองรับก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาได้ลงทุนในโครงการคมนาคมหลายอย่าง เช่น การสร้างถนน ทั้งถนนในประเทศและถนนที่เชื่อมต่อกับไทย ลาวและเวียดนาม รวมทั้งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงขึ้นใหม่หลายแห่งเพราะรัฐบาลรู้ดีว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเป็นแรงดึงดูดการลงทุน

นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังมีแผนเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะกัมพูชามีเป้าหมายในการเป็นประเทศที่พึ่งตัวเองได้ด้านพลังงาน โดยไม่ต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในปริมาณมากอย่างที่เป็นอยู่

ข้อมูลจากการไฟฟ้ากัมพูชา (Electricity Authority of Cambodia) ระบุว่าปี 2013-2014 กัมพูชานำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านถึงร้อยละ 40-50

"รัฐบาลลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรของเราเองในการผลิตไฟฟ้า และนี่อาจทำให้กัมพูชาไม่ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกต่อไป" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าว

ตามแผนของกรมพัฒนาพลังงาน กระทรวงการเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา ภายในปี 2020 กัมพูชา จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 8 แห่ง และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 แห่ง ซึ่งจะทำให้กัมพูชาผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 6,300 เมกะวัตต์ จากที่ผลิตได้เองประมาณ 350 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน

ทิศทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางความต้องการพลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียน

รายงานสถานการณ์พลังงานของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2558 (Southeast Asia Energy Outlook 2015) ซึ่งจัดทำโดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) ระบุว่า ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคนี้จะสูงขึ้นเป็น 3 เท่า ในปี 2040 โดยถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ IEA คาดการณ์ว่าจะเป็นแหล่งผลิตพลังงานที่นำมาใช้มากที่สุด

 

นายโฮ วันดี ที่ปรึกษาหอการค้ากัมพูชากล่าวถึงการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่า รัฐบาลสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานในประเทศ ที่จังหวัดเกาะกงก็มีบริษัทจีนมาลงทุนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ

นายโฮบอกว่าค่าไฟฟ้าในกัมพูชาแพงกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีปัญหาไฟฟ้าดับอยู่บ่อยครั้ง

"คนในพนมเปญทุกคนต้องการไฟฟ้า ถ้ามีไฟฟ้าเพียงพอทุกอย่างก็จะไปได้ด้วยดี และถ้าไฟฟ้าถูกเราก็จะมีไฟสว่างตามถนน ประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น" ที่ปรึกษาหอการค้ากัมพูชากล่าว แต่เขาก็ย้ำว่าการก่อสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้านั้น ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและต้องรับฟังข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนว่า โครงการนั้นๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชุมชน คนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน

 

ด้านนายเคม เลย นักวิจารณ์การเมืองในกัมพูชา กล่าวถึงโครงการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ใน จ.สตึงเตรง ที่ก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 50 และเป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของรัฐบาลว่า กัมพูชายังมีทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานประเภทอื่น ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและชุมชน

"ในแง่เศรษฐกิจเราต้องผลิตไฟฟ้าใช้ แต่เรามีหลายทางเลือก เรามีพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์และอื่นๆ แต่การสร้างเขื่อนมีผลกระทบต่อชุมชน" นายเคมกล่าว

แต่สำหรับเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 คำเตือนของเขาดูเหมือนจะเกิดขึ้นช้าไป จากการลงพื้นที่ของทีมข่าวไทยพีบีเอสพบว่า การก่อสร้างเขื่อนได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตของผู้คนในหลายหมู่บ้าน ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพออกจากหมู่บ้านเดิมที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ขณะที่นักสิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลถึงผลกระทบของสร้างเขื่อนต่อระบบนิเวศของแม่น้ำเซซาน

เป้าหมายที่จะผลักดันประเทศให้เป็นเสือเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ทำให้หลายประเทศ รวมทั้งกัมพูชาบรรจุการสร้างโรงไฟฟ้าไว้ในแผนพัฒนาพลังงาน แต่เวลานี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่า การสร้างโรงไฟฟ้าในกัมพูชาจะนำมาสู่ความขัดแย้งอย่างที่เคยเกิดขึ้นและกำลังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยหรือไม่

 

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 5 ของรายงานชุด "ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน: เขื่อนในกัมพูชากับอนาคตลุ่มน้ำสามเซ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส อินเตอร์นิวส์ และองค์การ PACT ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนทุนจำนวนหนึ่งในการผลิตสารคดีข่าวเพื่อสำรวจผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขงของประเทศกัมพูชา อ่านรายงานพิเศษและชมคลิปทั้งหมดได้ที่ www.thaipbs.or.th/sesandams

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง