ขบวนเดินรณรงค์ "หยุดถ่านหิน" ถึงพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ร้องรัฐบาลเปิดข้อมูลต่อสาธารณะ

สิ่งแวดล้อม
10 เม.ย. 59
20:07
243
Logo Thai PBS
ขบวนเดินรณรงค์ "หยุดถ่านหิน" ถึงพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ร้องรัฐบาลเปิดข้อมูลต่อสาธารณะ
ขบวนเดินรณรงค์ "หยุดถ่านหิน ต่อลมหายใจคนชายแดนใต้" ได้เดินทางถึงเพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาแล้ว หลังเดินรณรงค์มา 3 วันเต็ม พร้อมถกเวทีสาธารณะคุยถึงข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล และความกังวลกรณีการรับฟังความเห็น ปชช.ต่อโครงการ

วันนี้ (10 เม.ย.2559) ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ขบวนเดินรณรงค์ "หยุดถ่านหิน : ต่อลมหายใจคนชายแดนใต้" กว่า 200 คน ได้เดินทางมาถึงบ้านคลองประดู่ อ.เทพา จ.สงขลา ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. สิ้นสุดภารกิจการเดินรณรงค์ทำความเข้าใจกับชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากกลุ่มผู้เดินขบวนรณรงค์มองว่า ที่ผ่านมาข้อมูลผลกระทบ รวมถึงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ไม่ได้ถูกนำมาให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง

หลังจากขบวนเดินรณรงค์หยุดถ่านหินเดินทางถึงแล้ว ได้มีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆได้มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น ชาวบ้านจาก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบ นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรที่ทำงานรณรงค์ด้านภาวะโลกร้อนระหว่างประเทศ ในเวทีตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า ในขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับรองข้อตกลงว่าด้วยการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21(COP 21) ที่กรุงปารีสเมื่อปี 2558 แต่ทำไมประเทศไทยถึงยังยืนยันที่จะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ด้านชาวบ้านในพื้นที่ มีข้อเรียกร้องเดียวไปยังรัฐบาลคือให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ ที่เพิ่งมีการประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยขอให้รัฐบาลหันไปทบทวนและศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมพลังงานทางเลือกแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

"นักวิชาการบอกว่า 10 ปีนี้ถ้าไม่สร้างก็ยังไม่มีปํญหาอะไร เราจึงอยากให้นักวิชาการกลุ่มนี้และรัฐบาลคุยกัน เพราะว่าข้อมูลของแต่ละฝ่ายไม่มีการนั่งโต๊ะเจรจากันว่าข้อมูลของใครเป็นความจริง รัฐบาลก็น่าจะเรียก กฟผ. นักวิชาการที่บอกว่าไฟฟ้ามีเพียงพอแล้วมานั่งคุยกัน" นายดิเรก เหมนคร เครือข่ายคนสงขลา-เทพา ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าว

การเดินรณรงค์ของเครือข่ายเดิน "หยุดถ่านหิน : ต่อลมหายใจคนชายแดนใต้" ได้เริ่มเดินตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา เป็นระยะทางกว่า 30 กม.โดยมีเครือข่ายภาคประชาชน นักศึกษา เครือข้ายด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมเดิน ด้วยเป้าหมายต้องการให้ข้อมูลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพาถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง