ร้องโครงการขุดลอกคลอง จ.หนองบัวลำภู ทำลายฝายกักเก็บน้ำชาวบ้าน

ภูมิภาค
11 เม.ย. 59
07:24
562
Logo Thai PBS
ร้องโครงการขุดลอกคลอง จ.หนองบัวลำภู ทำลายฝายกักเก็บน้ำชาวบ้าน
ชาวบ้าน จ.หนองบัวลำภู ร้องเรียนไทยพีบีเอสว่าได้รับผลกระทบจากการขุดคลองลำน้ำ ตามนโยบายจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แต่หลังจากมีโครงการกลับพบว่าน้ำในลำคลองลดระดับลงมากกว่าเดิม ขณะที่ชาวบ้านเสนอให้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้างฝายกักเก็บน้ำ

ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านว่าลำน้ำพะเนียง ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของประชาชนใน จ.หนองบัวลำภู พบว่าน้ำมีปริมาณน้อยแม้จะมีการขุดลอกคลองตามนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทเมื่อปี 2548 นอกจากนี้ ชาวบ้านก็ไม่สามารถใช้น้ำได้ เนื่องจากมีการสร้างถนนสูงเลียบลำคลองจนไม่สามารถผันน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรได้

"ตอนที่เจ้าหน้าที่มาขุดลอกคลองก็ทำให้ฝายของชาวนาเสียหายหมด ชาวนาจะสร้างฝายใหม่ก็ทำไม่ได้เพราะว่ามันลึก มันไม่เหมือนเดิมและการใช้น้ำก็มีปัญหา" วรพงศ์ คำมูร อดีตผู้ใหญ่บ้านวังน้ำขาว กล่าว

การขุดลอกคลองที่มีการขยายความกว้างจาก 15 เมตรเป็น 70 เมตร ตามนโยบายของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกินพื้นที่ทำกินของเกษตรกรหลายพันไร่ โครงการนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทำลายฝายกักเก็บน้ำที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน หลังจากขุดลอกแล้ว หลายปีที่ผ่านมาน้ำในลำน้ำพะเนียงก็ยังมีระดับต่ำกว่าปกติ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สร้างฝายกักเก็บน้ำขึ้นมาทดแทน

ชาวบ้านจาก 2 หมู่บ้านใน ต.หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู กว่า 230 คนร่วมลงชื่อในหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการขุดลอกคลองที่ทำลายระบบนิเวศและทำให้น้ำน้อยกว่าที่เคย

ขณะที่นายพศิน โกมลวิช ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูระบุว่าระดับน้ในลำน้ำพะเนียงปีนี้เหลือน้อยมากซึ่งต่างจากทุกปีที่ลำน้ำสายนี้ไม่เคยแห้ง

ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการให้สร้างฝายกักเก็บน้ำขึ้นมาทดแทนนั้น ผู้ว่าราชการหนองบัวลำภูระบุว่า ทางจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นตรงกับชาวบ้าน จึงขอให้ชาวบ้านอย่ากังวล

โครงการขุดลอกลำน้ำพะเนียง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ตามแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว โดยมีการขุดลอกลำน้ำพะเนียงความยาวกว่า 150 กิโลเมตร ทำให้ลำน้ำกว้างและลึกขึ้น ซึ่งก่อนการขุดลอกคลองไม่ได้ทำประชาพิจารณ์จึงทำให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านจนนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ขณะนี้ชาวบ้านได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองในแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฟื้นฟูลำน้ำให้กลับมาสมบูรณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง