สจล.ยืนยันยังไม่ออกแบบ "ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" ชี้ชุมชนเข้าใจคลาดเคลื่อน

สิ่งแวดล้อม
13 เม.ย. 59
16:52
260
Logo Thai PBS
สจล.ยืนยันยังไม่ออกแบบ "ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" ชี้ชุมชนเข้าใจคลาดเคลื่อน
สจล.เดินหน้าลงพื้นที่ 31 ชุมชน เพื่อสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าชาวบ้านยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับรูปแบบของโครงการ เตรียมเชิญกลุ่ม Friends of the River (FOR) ที่คัดค้านโครงการมาเสนอความเห็น

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบอกว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน "เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา" ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ โครงการนี้มีระยะทางรวม 57 กม. แต่ในระยะนำร่องมีระยะทาง 14 กม. เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ไปจนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้ง 2 ฝั่ง

ตามแนวคิดเบื้องต้น โครงการจะประกอบด้วยช่องทางจักรยานและทางเดินเท้า ลานสันทนาการ ศาลาพักผ่อนริมแม่น้ำ สวนสาธารณะและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งมีพื้นที่บริการ ลานจอดจักรยานและลานกิจกรรมที่ออกแบบอย่างสอดคล้องและสัมพันธ์กับแต่ละพื้นที่

สจล.ยืนยันศึกษารอบด้าน เปิดแนวคิดในการออกแบบ 22 เม.ย.

ผศ.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ว่า ทีมงานได้เริ่มลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจาก 31 ชุมชน 268 หลังคาเรือน รวมทั้งสถานประกอบการ วัด และโรงพยาบาล และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ซึ่งรวมทั้งชุมชนที่อยู่ริมน้ำและไม่ได้อยู่ริมน้ำ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า หลายชุมชนเข้าใจว่าจะมีการก่อสร้างถนนคอนกรีตเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้นทีมงานจึงต้องใช้เวลาในการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับชุมชนว่าขณะนี้ยังไม่มีการออกแบบโครงการ แต่อยู่ในช่วงของการลงพื้นที่ศึกษาและพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการวางแผนพัฒนาพื้นฟูพื้นที่ริมแม่น้ำ

ผศ.อันธิกาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ชาวบ้านเข้าใจว่ามีการออกแบบโครงการแล้วเป็นเพราะว่าในปี 2557-2558 มีผู้วาดแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาออกมาหลายแบบ รวมทั้งกลุ่มที่คัดค้านโครงการได้ทำภาพกราฟิกมาเผยแพร่ให้คนในชุมชนดู ทำให้เกิดความสับสน

ทั้งนี้ สจล.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมพื้นทิ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง รวม 14 กม.คือจากสะพานพระราม 7 จนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยการออกแบบเส้นทางจักรยานจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่ไปกับการศึกษาทางเทคนิค โดยจะต้องนำข้อมูลประวัติศาสตร์ ประวัติชุมชนและความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำกับคนไทยมาพิจารณาประกอบด้วย

ผศ.อันธิกาเปิดเผยว่า ทีมงานมีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่บนบกให้มากที่สุดในการทำโครงการ

ส่วนประเด็นเรื่องผลกระทบของโครงการที่มีต่อเขื่อนริมน้ำและพื้นที่โบราณสถานนั้น ผศ.อันธิกาอธิบายว่า เขื่อนริมแม่น้ำประมาณร้อยละ 80 เป็นแนวเขื่อนเดิมของ กทม. ซึ่งขณะนี้ทีมงานอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากใช้การไม่ได้ก็อาจต้องรื้อถอนออกไปและก่อสร้างขึ้นใหม่ ส่วนในพื้นที่โบราณสถานนั้น จะออกแบบให้อ้อมไปด้านหลังหรือใช้พื้นที่ในแม่น้ำ

การเวนคืนที่ดินเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ชาวชุมชนริมแม่น้ำมีความกังวล ซึ่ง ผศ.อันธิกากล่าวว่า การเวนคืนที่ดินขึ้นอยู่กับความต้องการและความสมัครใจ หากชาวบ้านไม่ต้องการพื้นที่สาธารณะที่เป็นลานโล่ง ก็อาจมีการลดขนาดและส่วนประกอบลง พร้อมกับยืนยันว่าการพัฒนาโครงการนี้จะคำนึงถึงผลกระทบต่อชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินให้มากที่สุด ผู้ที่จะถูกเวนคืนต้องได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสม และเตรียมเจรจาให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) พิจารณาให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง

กทม.ซึ่งประกาศว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2560 ให้เวลา สจล.สำรวจและออกแบบเป็นเวลา 210 วัน โดยจะครบกำหนดในเดือนกันยายน 2559

ผศ.อันธิกายอมรับว่าค่อนข้างกังวลกับกรอบเวลาการทำงาน แต่คิดว่ามีเวลาเพียงพอที่จะการศึกษาอย่างละเอียด และตามแผนจะส่งแบบแรกซึ่งครอบคลุมระยะทาง 3.5 กม.จากทั้งหมด 14 กม.ให้ กทม.ได้ภายใน 3 เดือนหรือราวเดือนกรกฎาคม โดยจะทำคู่ขนานกันไปทั้งงานด้านสถาปัตย์ ประวัติศาสตร์ชุมชน และด้านวิศวกรรมที่ศึกษาเรื่องชลศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสำรวจและออกแบบ

วันที่ 22 เม.ย.2559 สจล.มีกำหนดจัดงานปฐมนิเทศโครงการเพื่อเปิดเผยแนวคิดในการออกแบบต่อสาธารณะ และจะเชิญกลุ่ม FOR เข้ามาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นด้วย

FOR ย้ำต้องฟังชุมชน อย่าตั้งธงสร้างทางจักรยาน

นายยศพล บุญสม ตัวแทนกลุ่ม FOR เสนอให้ชุมชนริมแม่น้ำทำข้อเสนอคู่ขนานกับแนวคิดของภาครัฐที่ดูเหมือนจะตั้งธงไว้แล้วว่าจะทำทางจักรยาน

นายยศพลกล่าวว่าก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มได้นำข้อมูลมาจากทีโออาร์ของสำนักการโยธา กทม. มาออกแบบและนำไปสอบถามความคิดเห็นจากคนในชุมชนริมแม่น้ำว่ารับได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางกลุ่ม FOR เห็นว่าชุมชนมีทางเลือกและไม่จำเป็นต้องรับหรือมีส่วนร่วมในสิ่งที่ชุมชนไม่ต้องการ

ตัวแทนกลุ่ม FOR แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ทาง สจล.มีโจทย์ไว้แล้วว่าจะสร้างเป็นทางจักรยาน และคาดว่าอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อปรับแผนให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน แต่อยากถาม สจล.ว่า ชุมชนมีทางเลือกอื่นหรือไม่ หากไม่อยากได้ทางจักรยาน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าระยะเวลา 210 วันในการสำรวจและออกแบบนั้นนับว่าเป็นเวลาที่น้อยมาก และข้อกำหนดที่ให้ สจล.ลงพื้นที่ชุมชนละ 6 ครั้งนั้นก็ถือว่าน้อยเกิดไป อาจทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน อีกทั้งในการลงพื้นที่ สจล.ควรตั้งคำถามปลายเปิดว่ามีการฟื้นฟูพื้นที่ริมแม่น้ำนั้นมีแนวทางใดบ้าง แทนที่จะตั้งธงเอาไว้ว่าจะสร้างทางจักรยาน

นอกจากนี้ ชุมชนยังมีความกังวลว่าโครงการจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ขโมย โจรกรรม คนจรจัด รวมทั้งมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์พลุกพล่าน นายยศพลกล่าวพร้อมกับเสนอว่า งบประมาณของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14,000 ล้านบาทนั้นควรนำไปใช้ในโครงการอื่นที่เป็นประโยชน์และจำเป็นมากกว่า เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำในแม่น้ำ การฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

สำหรับเวทีปฐมนิเทศโครงการที่ สจล.จะจัดขึ้นในวันที่ 22 เม.ย.นี้ นายยศพลคิดว่าชุมชนควรจะไปแสดงจุดยืนต่อโครงการ เช่น ชาวชุมชนบ้านปูนที่เห็นว่ามีทางเลือกอื่นในการฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรม หรือชุมชนบางอ้อและบางลำพูที่ไม่ต้องการทำทางจักรยาน ส่วนทางกลุ่ม FOR เตรียมจะจัดเวทีในวันที่ 24 และ 30 เม.ย.นี้เช่นกัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการ

มีนา บุญมี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง