วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้โซเชียล มีเดีย กรณี "เน วัดดาว"ยิงตัวเองถ่ายทอดสด

สังคม
16 เม.ย. 59
20:28
4,835
Logo Thai PBS
วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้โซเชียล มีเดีย กรณี "เน วัดดาว"ยิงตัวเองถ่ายทอดสด
กรณีที่ นายมัครินทร์ พุ่มสะอาด หรือ ที่รู้จักในฉายา "เน วัดดาว" ที่ใช้ปืนยิงตัวเองและถ่ายทอดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและตำรวจวิเคราะห์ ตรงกันว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมแต่ยังไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

เหตุการณ์ที่นายมัครินทร์ พุ่มสะอาด หรือ ฉายา "เน วัดดาว" ใช้ปืนยิงตัวเองและถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก ไลฟ์ แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต คนใกล้ชิดนำตัวส่งโรงพยาบาล และขณะนี้อาการปลอดภัย ส่วนสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว

"ทำไมเน วัดวาวถึงต้องคิดสั้น คนทุกคนมีจุดที่ต่ำสุด มีจุดที่อ่อนแอ แล้วไม่รู้ว่าช่วงที่อ่อนแอเราอยู่คนเดียวและมองหาใครไม่ได้แล้ว ซึ่งไม่มีใครอยากอยู่จุดนั้น ความเครียด ความคิดมาก ซึ่ง เน วัดดาว เป็นคนที่คิดมาก ไม่บอกใคร ชอบเก็บไว้คนเดียว ตรงนี้เลยมีจุดที่อ่ออแอ จุดที่ต่ำที่สุด จุดที่แย่ที่สุด ดังนั้นให้กำลังใจกันดีกว่า " เพื่อน เน วัดดาว ระบุ

การใช้เทคโนโลยีและสื่อโชเซียล ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง ถือว่าขณะนี้ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง ตามที่นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไอที มองว่าจากกรณีนี้ เมื่อ "เน วัดดาว" ถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊ค ไลฟ์ แต่ในกระบวนการหากไม่มีการอัพโหลดขึ้นผู้ติดตามจะไม่สามารถเห็นคลิปนี้ขณะเกิดเหตุได้

การเผยแพร่เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นมา 2 ครั้งแล้วในต่างประเทศ ซึ่งทางเฟซบุ๊กแบนผู้เผยแพร่แล้ว กรณีลักษณะนี้ผู้เชี่ยวชาญเตือนการใช้สื่อต้องมีสติ ปัจจุบันสื่ออยู่ในมือทุกคนผู้ปกครองต้องรู้เท่าทันสื่อและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งในต่างประเทศก็มีปัญหาเหล่านี้และต้องยอมรับว่า เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ เป็นอาวุธที่ทรงพลังอย่างมาก ผู้ใช้สื่อ และเสพสื่อต้องรู้เท่าทัน

"ในต่างประเทศก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นอาวุธทางการตลาดที่ทรงพลังมาก แต่กำลังตกไปอยู่ในมือของผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องคิดให้เยอะ คิดให่มากทั้งผู้ใช้และผู้เสพสื่อ" พงศ์สุข ระบุ

ปัญหาการใช้สื่อที่รวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายในกรณีนี้ นายขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาพัฒนาสมอง ระบุว่า ไม่ต้องการให้สังคมมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจแต่อยากให้เข้าใจว่า การใช้สื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้คนสามารถใช้เป็นช่องทางในการระบายความรู้สึกแต่ควรจะคิดให้ดีด้วยว่าตราบใดที่การระบายความรู้สึกนั้น ไม่ส่งผลให้คนอื่นเป็นทุกข์ ก็ย่อมกระทำได้

"เมื่อใดก็ตามวิธีการกำจัดทุกข์ของเรา การบ่นของเราไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดแล้วอัดลงไป แล้วทำให้เกิดสิ่งไม่ดีต่อคนอื่นเช่นทำให้คนอื่นทุกข์ ทำให้สังคมย่ำแย่ลง ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบในสิ่งที่ไม่ดีเนี่ย เราควรหยุดและพิจารณาให้ดีก่อน ไม่ใช้เฉพาะกรณีการฆ่าตัวตาย แต่การกระทำสิ่งใดที่ไม่เหมาะสมออกสื่อ การพูดอะไรที่ไม่เหมาะสมออกสื่อ เรามีสิทธิที่จะทำแต่อย่าลืมว่าสิทธิควรมาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม" นักจิตวิทยาสมอง กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.สมพร แดงดี รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ซึ่งตามความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ คือการนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จ ลักษณะลามกอนาจาร เรื่องก่อการร้าย ส่วนกรณีถือว่า เป็นพฤติกรรมส่วนตัว แต่ถือว่า ไม่เหมาะสม

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง