"Friends of the River" ย้ำจุดยืนค้านสร้างทางจักรยาน สจล.เดินหน้ารับฟังความเห็นกลุ่มย่อย

สังคม
25 เม.ย. 59
17:47
364
Logo Thai PBS
"Friends of the River" ย้ำจุดยืนค้านสร้างทางจักรยาน สจล.เดินหน้ารับฟังความเห็นกลุ่มย่อย
กลุ่ม Friends of River (FOR) เดินหน้าคัดค้านทางจักรยานและทางเดินในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 30 เม.ย.นี้ ขณะที่อดีต ส.ส.เขตบางพลัดตั้งคำถามถึงความโปร่งใส หลังมีการประเมินค่าก่อสร้างทั้งที่การออกแบบยังไม่เสร็จ

นอกจากจะย้ำจุดยืนในการคัดค้านการสร้างทางจักรยานในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว กลุ่ม FOR ยังได้แสดงความเห็นต่อการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 หรือการปฐมนิเทศโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งจัดโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2559 ว่าเวทีควรเป็นไปอย่างเปิดกว้าง รับฟังความเห็นที่หลากหลาย และต้องไม่ตั้งธงไว้ก่อน

นายยศพล บุญสม ตัวแทนกลุ่ม FOR ซึ่งเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฐมนิเทศโครงการด้วยกล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งแรกควรจะเปิดกว้างว่าชุมชนต้องการอะไร และรับฟังโจทย์ที่หลากหลาย โดยที่ไม่มีธงไว้ก่อนว่าจะทำทางจักรยานหรือทางเดิน ซึ่งสะท้อนว่าไม่ได้ตอบสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่หรือสังคมต้องการ

การที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่าได้เริ่มสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางจักรยานไปแล้ว แสดงให้เห็นว่ามีธงมาตั้งแต่แรก นายยศพลตั้งข้อสังเกตพร้อมกับยืนยันว่า กลุ่ม FOR ยังมีจุดยืนในการคัดค้านทางจักรยานไม่ว่าจะมีรูปแบบอย่างไรก็ตาม นายยศพลกล่าว

ทั้งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามสัญญาจ้างสถาบันการศึกษา ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนำมาสู่การจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นโดย สจล.

นายยศพลเสนอแนะว่า ชุมชนควรเข้าใจว่าโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องทำทางจักรยาน และชุมชนควรรวมกลุ่มกันมากขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามถึงการลงพื้นที่ของ สจล.ในการทำงานกับชุมชนซึ่งกำหนดไว้ 6 ครั้งว่าอาจจะไม่เพียงพอในการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ฝ่ายภาคประชาชนเตรียมจัดงานรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 30 เม.ย.นี้ โดยจะเชิญ สจล. กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนว่าอยากเห็นการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเป็นอย่างไร

ผศ.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.ในฐานะโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ว่า คณะทำงานได้เริ่มลงพื้นที่จัดประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 จำนวน 32 ชุมชน ในระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร และประชุมหารือกับหน่วยงานราชการ ศาสนสถาน และภาคเอกชน ผู้ประกอบการริมน้ำ รวมทั้งสัมภาษณ์เชิงลึกนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 1 ครั้ง ได้ข้อสรุปภาพรวมปัญหาของชุมชน ได้แก่ ปัญหาน้ำเสีย ขาดพื้นที่สาธารณะ น้ำท่วมขังที่เกิดจากเขื่อนริมแม่น้ำเกิดการรั่วซึมทำให้น้ำไหลเข้าพื้นที่ชุมชนและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง นอกจากนี้ประชาชนยังเห็นว่าเขื่อนกั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาสูงบดบังทางลมและทิวทัศน์ริมน้ำ เส้นทางสัญจรภายในชุมชนคับแคบและขาดพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะจากชุมชนให้เพิ่มพื้นที่สาธารณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต คุณค่า และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงความปลอดภัยชุมชนริมน้ำและแก้ปัญหาการรุกล้ำสร้างที่พักอาศัยบนแม่น้ำ

ผศ.อันธิกากล่าวว่า สจล.เตรียมจัดประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันนี้ (25 เม.ย.) จนถึงวันที่ 6 พ.ค.เพื่อสรุปข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ จากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 และเตรียมทำกระบวนการ "โบราณคดีชุมชน" เพื่อร่วมกันถอดองค์ความรู้ทางมรดกวัฒนธรรมและนำไปต่อยอดพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.เขตบางพลัด กล่าวว่า มีข้อกังวลใจเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบของโครงการว่ามีการตั้งธงมาหรือไม่ และมองว่า การออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมควบคู่กันนั้นเป็นไปไม่ได้ จะต้องรอให้การออกแบบทางสถาปัตยกรรมได้ข้อสรุปก่อนแล้วจึงออกแบบทางวิศวกรรม และระยะเวลาทำงานเพียง 2 เดือนนั้นคิดว่าน้อยไป เพราะว่าการออกแบบต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมรดกทางวัฒนธรรมด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องความโปร่งใสในการใช้ภาษีของประชาชน เนื่องจากขณะที่การออกแบบยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีข้อมูลว่ากำลังจะมีการประเมินค่าก่อสร้างโครงการแล้ว จึงเกิดคำถามว่าประเมินราคาบนฐานอะไร

ดร.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของการทำโครงการนี้ คำถามคือถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย จะมีโอกาสแสดงความคิดเห็นในส่วนไหนของการศึกษา

นอกจากนี้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังทำควบคู่ไปทั้งที่การออกแบบยังไม่ได้ข้อยุติ แม้ว่าอาจศึกษาล่วงหน้าเกี่ยวกับผลกระทบด้านเสียงและน้ำได้ แต่ในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมรดกทางวัฒนธรรมต้องรอให้ได้แบบที่ชัดเจนก่อน และควรระบุให้ชัดเจนว่าจะมีการศึกษาผลกระทบทางมรดกวัฒนธรรมด้วย

ดร.รัชดาเสนอว่า ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่เพียงแค่ของคนกทม.หรือคนในชุมชน ควรเปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อแบบที่ร่างขึ้นมาด้วย

นายวิสาโรจน์ อดีตมัคคุเทศก์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาหรือริมคลองมีบางพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้ได้ เพราะว่าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการสูญเสียสิทธิ์ของสาธารณะ ประชาชนควรมีสิทธิ์ในการใช้พื้นที่สาธารณะได้ เช่น ริมชายหาดในปัจจุบัน จะพบว่าบางโรงแรมนำพื้นที่ไปเป็นของตัวเอง และห้ามประชาชนเข้าไปใช้ จึงสนับสนุนในการใช้สิทธิ์สาธารณะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง