ศิลปินเรียกร้องให้ยูทูปเลิกเอาเปรียบส่วนแบ่งรายได้

ศิลปะ-บันเทิง
26 เม.ย. 59
17:55
310
Logo Thai PBS
ศิลปินเรียกร้องให้ยูทูปเลิกเอาเปรียบส่วนแบ่งรายได้

ในยุคที่วงการเพลงกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่องทางการฟังเพลงใหม่ๆ อย่างสตรีมมิงบนอินเทอร์เน็ต บรรดาศิลปิน ค่ายเพลง ไปจนถึงเจ้าของพื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตต่างก็ยังต้องถกเถียงกันว่ารายได้จะไปเข้ากระเป๋าใครเท่าไรบ้างจึงจะมีความสุขกันทุกฝ่าย โดยมีนักร้องชั้นนำหลายคนออกมาเรียกร้องให้แก้กฎหมายให้ยุติธรรมมากขึ้น

"นิกกี้ ซิกซ์" จากวงร็อคอเมริกันชื่อดัง "มอทลีย์ ครู" คือศิลปินรายล่าสุดที่ออกมาโจมตี Youtube เรื่องส่วนแบ่งรายได้ที่ไม่เป็นธรรม หลังจากนักร้องชื่อดังหลายคนก่อนหน้านี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวกระตุ้นประเด็นนี้กันไปแล้ว โดยมือเบสวัย 57 ปี เปิดเผยว่า ส่วนแบ่งรายได้ที่ Youtube ให้ศิลปินอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 6 ของรายได้จากบริการสตรีมมิงอื่นๆ เช่น Spotify และ Apple เท่านั้น พร้อมกับชี้ว่าดนตรี คือสิ่งที่คนค้นหามากที่สุดในเว็บไซต์ Youtube ดังนั้น เหล่าศิลปินจึงมีส่วนอย่างมากในธุรกิจบนเว็บไซต์แห่งนี้

ขณะที่ James Michael นักร้องนำของวง Sixx:AM ที่ร่วมงานกับนิกกี้ ซิกซ์อยู่ตอนนี้ เสริมว่าที่ออกมาเรียกร้องนี้ไม่ได้ทำเพื่อเงินส่วนตัว แต่เพื่อช่วยศิลปินรายเล็กๆ ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวเหมือนที่เขาก็เคยอยู่ในจุดนั้นมาก่อน ซึ่งถ้ามีโอกาสที่ดีแต่หากไม่มีรายได้เข้ามาให้สมดุลก็ไปต่อไม่ได้ จึงเป็นการเรียกร้องเพื่ออนาคตของวงการเพลง

การออกมาเคลื่อนไหวกดดัน Youtube ถือเป็นก้าวแรก ที่จะตามมาด้วยการเรียกร้องให้แก้กฎหมายให้ยุติธรรมกับเจ้าของเพลงมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้นักร้องชั้นนำของวงการทั้ง Katy Perry, Lionel Richie, Deadmau5 และ Christina Aguilera ได้ร่วมลงชื่อในแคมเปญเรียกร้องให้แก้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่เรียกว่า "ท่าปลอดภัย" หรือ Safe Harbor ที่วางหลักไว้ว่าให้ผู้ใช้อัพโหลดไฟล์ได้เองอย่างเสรี แต่หากมีการร้องเรียนว่าเป็นไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ทำได้แค่แจ้งเตือนให้เอาออกเท่านั้น ซึ่งฝ่ายศิลปินมองว่ากฎหมายนี้ทำให้รายได้หลักจากโฆษณากระจายไปสู่วิดีโอเถื่อนเกือบหมด

ด้านโฆษกของ youtube โต้ตอบผ่านสื่อว่า ที่ผ่านมาทาง Google ที่เป็นเจ้าของ Youtube ได้จ่ายเงินให้กับผู้ถือลิขสิทธิ์ในวงการดนตรีไปมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงศิลปินรายเล็กๆ ที่สร้างแฟนคลับจาก youtube ด้วย โดยสำนักข่าว Forbes ได้เปิดเผยรายได้ของนักไวโอลินสาวชื่อดัง Lindsey Stirling เป็นตัวอย่างว่าในปี 2015 เธอทำเงินได้ถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการขายอัลบั้มและทัวร์ ซึ่ง Youtube มีบทบาทสำคัญในการช่วยโปรโมต

ขณะที่การพัฒนา "Content ID" หรือระบบอัตโนมัติในการตรวจจับไฟล์เถื่อน ก็มีส่วนช่วยเจ้าของผลงานอย่างมาก โดย 98% ของการจัดการวิดีโอละเมิดลิขสิทธิ์มาจากระบบนี้ มีที่ร้องเรียนเข้ามาเพียง 2% เท่านั้น และกำลังเจรจากับเหล่าค่ายเพลงในการเปิดเผยรายได้และรายจ่ายภายใน Youtube ซึ่งความโปร่งใสน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเรียกร้องส่วนแบ่งไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง