คสช.ระบุแจ้งข้อหา 8 คน แล้ว ผิด พ.ร.บ.คอมฯ-ยุยงปลุกปั่น คุมตัวสอบปากคำที่กองปราบฯ

การเมือง
28 เม.ย. 59
17:38
163
Logo Thai PBS
คสช.ระบุแจ้งข้อหา 8 คน แล้ว ผิด พ.ร.บ.คอมฯ-ยุยงปลุกปั่น คุมตัวสอบปากคำที่กองปราบฯ
ญาติผู้ถูกทหารควบคุมตัว 8 คน ยื่นคำร้องต่อศาลขอปล่อยตัวชั่วคราว องค์กรสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัว ขณะที่โฆษก คสช.ระบุมีการแจ้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมฯ จากการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียยุยงปลุกปั่น ยืนยันไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ

วันนี้ (28 เม.ย.2559) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กองบังคับการกองปราบปราม เจ้าหน้าที่ได้นำตัวบุคคล 8 คน จาก มทบ.11 ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ทั้งในกรุงเทพมหานครและขอนแก่น มาสอบปากคำ หลังจากช่วงเช้าวันนี้ ญาติของผู้ถูกทหารควบคุมตัว 4 คน พร้อมทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่าพฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวบุคคลทั้ง 4 คน ไม่มีการแจ้งเหตุการควบคุมตัวที่บ้านพัก ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่แสดงหมายจับ และไม่มีการแสดงหมายค้น ซึ่งเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 11.00 น. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการที่เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวผู้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กรวม 10 คน เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะจะกลายเป็นการปิดกั้นการอภิปรายถกเถียงก่อนจะถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

นายโจเซฟ เบเนดิกต์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า หากประชาชนทั่วไปไม่สามารถแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กได้ จะส่งผลอย่างไรต่อการอภิปรายอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะควรปล่อยให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณทางการเมืองเพื่อตัดสินใจด้วยตัวเอง

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.ระบุว่าการควบคุมตัวบุคคล 8 คน ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว เนื่องจากมีพฤติกรรมต้องสงสัยเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมีความผิดตามมาตรา 116 เกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่น และยังมีอีก 1 คน อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่ามีเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน ทั้งนี้ข้อความที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวได้โพสต์ทางโซเชียลมีเดีย มีลักษณะที่เป็นการสื่อสารให้มีผลทางจิตวิทยาและเพื่อให้บุคคล องค์กร ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่ได้รับความไว้วางใจ และขัดต่อการบริหารราชการ การรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อต้านหน่วยงานรัฐ

โฆษก คสช.ยังระบุอีกว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่พบการดำเนินการของทหารที่เกินกว่าเหตุ ส่วนกรณีองค์กรแอมเนสตี้ และองค์กรอื่นๆ ที่ออกมาวิจารณ์การทำงานของทหารในการเข้าควบคุมตัวบุคคลนั้น อาจจะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่ได้อยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งการออกมาวิจารณ์ดังกล่าวเข้าข่ายดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ ทำให้สังคมเคลือบแคลงเจ้าหน้าที่ได้จึงขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อน

ก่อนหน้านี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน 6 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ‘ให้ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจ’ เรียกร้อง คสช.ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมตัววานนี้โดยไม่มีเงื่อนไขและยุติการจับกุมโดยไม่แจ้งเหตุในการคุมตัว พร้อมให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยชี้ว่าคำสั่งนี้เป็นที่มาที่ทำให้เกิดการใช้อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ ยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก่อให้เกิดความการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง