ย้อนที่มาโครงการประดับไฟลานคนเมือง 39 ล้านบาท

อาชญากรรม
4 พ.ค. 59
06:49
1,061
Logo Thai PBS
ย้อนที่มาโครงการประดับไฟลานคนเมือง 39 ล้านบาท
โครงการประดับไฟลานคนเมืองของกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นเมื่อ 30 ธ.ค.2558 - 30 ม.ค.2559 ซึ่งในขณะที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ถึงมูลค่าของโครงการ แต่ผู้ว่าฯ กทม.ยืนยันว่า เป็นการให้ความรู้ประชาชนควบคู่กับความสวยงาม

วานนี้ ( 3 พ.ค.2559) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เคยได้ชี้แจงประโยชน์ของการประดับไฟ LED บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยจัดทำเป็นซุ้มอุโมงค์ไฟประดับ LED จำนวน 5 ล้านดวง เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2559 โดยโครงการนี้เริ่มประกาศร่างทีโออาร์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2558 ระบุหลักการและเหตุผลว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้ก้าวไปสู่ความเป็นมหานครท่องเที่ยวระดับโลก ตามแนวคิด "กรุงเทพฯ เมืองยิ้ม" ซึ่งการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ความผิดปกติ ยังปรากฎในเรื่องการแจ้งออกประกาศขอเปลี่ยนแปลงวันเสนอราคา ให้เร็วขึ้น และมีเอกชนสนใจเข้าซื้อซอง 7 ราย แต่มีผู้สนใจยื่นซองเอกสาร 2 ราย คือ บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด และ บริษัท สรรค์สร้าง จำกัด ซึ่งผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิคทั้งคู่ ส่วนผลการเสนอราคา บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 380,010 บาท ทำให้เป็นผู้ชนะไปและต่อรองราคาเพิ่มช่วงทำสัญญาเหลือ 39,500,000 บาท

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2546 ทุนปัจจุบัน 5,000,000 บาท โดยแจ้งประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยข้อสงสัยทั้งหมมดมีนายวิลาส จันทร์พิทักษ์ และนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบความโปร่งใส

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาศ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า ความผิดปกติในการดำเนินการดังกล่าวมีการนำงบฉุกเฉินมาใช้แทนงบปกติ , บริษัทที่เข้าร่วมซื้อซองและประกวดราคาอย่างน้อย 3 บริษัท ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน และมีหญิงคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก 3 บริษัท ไปแจ้งเพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจไฟฟ้าประดับตกแต่ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ขณะเดียวกัน กทม.ได้สอบถามทีโออาร์จากบริษัท หนึ่งก่อนที่จะจัดทำทีโออาร์เสร็จภายในวันเดียว และไฟประดับที่จัดทำไม่ตรงกับเงื่อนไขเอกลักษณ์ความเป็นไทย

นอกจากนี้ บริษัท คิวริโอฯ ที่ชนะการประกวดราคา ได้สั่งซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศมาเตรียมไว้ก่อนที่จะมีการประกวดราคาและสำแดงภาษีไว้ที่กรมศุลกากร เป็นมูลค่าประมาณ 28-29 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่างบประมาณ 39 ล้านบาท ซึ่ง คตง. ได้พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. , นายธวัชชัย ผอ.กองการท่องเที่ยว ,น.ส.ปราณี ผอ.สำนักวัฒนธรรม พร้อมกับคณะกรรมการที่กำหนดทีโออาร์รวม 9 คน มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและน่าเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินและทรัพย์สินของแผ่นดินรวมถึงเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 จึงมีมติเห็นชอบที่จะดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดทั้งหมด

ทั้งนี้ได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง รวมทั้งดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนนี้อาจเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย โดยภายในสัปดาห์นี้จะส่งสำนวนการไต่สวนให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อพิจารณาต่อไป

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง