มติ กสท.ให้ PSI ปรับปรุงตั้งค่าช่องอัตโนมัติใน 30 วัน หลังเอื้อประโยชน์ช่อง Workpoint

เศรษฐกิจ
5 พ.ค. 59
16:54
1,054
Logo Thai PBS
มติ กสท.ให้ PSI ปรับปรุงตั้งค่าช่องอัตโนมัติใน 30 วัน หลังเอื้อประโยชน์ช่อง Workpoint
กสท.มีมติให้บริษัทพีเอสไอฯ ปรับปรุงการตั้งค่าช่องอัตโนมัติภายใน 30 วัน หลังขึ้นเมนูช่องรายการแนะนำ โดยเป็นระบบที่นำเข้าสู่ช่อง 23 เป็นช่องเริ่มต้นอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปิดปิดกล่อง ก่อนที่ผู้ชมจะเปลี่ยนไปเลือกชมรายการช่องอื่น

วันนี้ (5 พ.ค.2559) น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีผู้ร้องเรียนขอให้บริษัทพีเอสไอฯ ยกเลิกช่องรายการแนะนำในกล่องรับสัญญาณดาวเทียม PSI โดยขึ้นเป็นเมนู "ช่องรายการแนะนำ" เพื่อให้ผู้ชมสามารถเลือกช่องรายการต่างๆ เป็นเวลาประมาณ 7 วินาที หากไม่เลือกระบบจะนำเข้าสู่ช่อง 23 เป็นช่องเริ่มต้นโดยอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปิดปิดกล่อง ก่อนที่ผู้ชมจะเปลี่ยนไปเลือกชมรายการช่องอื่น ซึ่งเป็นการใช้วิธีทางเทคนิคเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับช่อง 23 (Workpoint) อันเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำที่เลือกปฏิบัติจากการจัดลำดับหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ พ.ศ.2556 และเป็นการกระทำที่ไม่ได้ให้บริการแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่นอย่างเท่าเทียมกัน และมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติตามประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ด้วย ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ กสท. จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช.มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัท พีเอสไอฯ ระงับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว และให้แก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการใช้วิธีการทางเทคนิคที่ส่งผลให้ผู้ใช้บริการต้องรับชมข้อมูลเมนูแนะนำรายการโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเมนูแนะนำรายการดังกล่าวได้บดบังพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์บางส่วน ซึ่งขัดขวางการรับชมรายการโทรทัศน์อย่างปกติทั่วไปชั่วขณะหนึ่งทุกครั้งที่มีการเปิดกล่องฯ ดังนั้นการกระทำที่ทำให้ผู้บริโภคต้องถูกบังคับให้รับชมช่องรายการตามที่ผู้ประกอบกิจการกำหนดหรือบดบังการรับชมช่องรายการตามปกติทั่วไป จึงพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง