หน.อุทยานฯ แม่วงก์คาดประชากรเสือโคร่งเพิ่ม ทำให้นักท่องเที่ยวพบเห็นง่ายขึ้น

Logo Thai PBS
หน.อุทยานฯ แม่วงก์คาดประชากรเสือโคร่งเพิ่ม ทำให้นักท่องเที่ยวพบเห็นง่ายขึ้น
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กล่าวถึงกรณีที่มีนักท่องเที่ยวพบเห็นและถ่ายภาพเสือโคร่งได้ว่า อาจเป็นเพราะเสือตามเหยื่อออกมาจากป่าลึก และเป็นสัญญาณว่าการกระจายตัวของประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้น

วันนี้ (9 พ.ค.2559) นายสุธน เวียงดาว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เปิดเผยถึงกรณีนักท่องเที่ยวพบและถ่ายภาพเสือโคร่งในป่าแม่วงก์ได้เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2559 และถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ว่า นักท่องเที่ยวพบเสือโคร่งบริเวณจุดชมวิวขุนน้ำเย็น การพบเห็นเสือโคร่งในป่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าเสือโคร่งอาจตามเหยื่อออกมาจากป่า และเนื่องจากอุทยานฯ แม่วงก์มีพื้นที่กว้าง การพบเห็นเสือโคร่งในครั้งนี้แสดงว่าการกระจายของประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้น

นายสุธนกล่าวว่า การที่นักท่องเที่ยวพบเห็นเสือโคร่งได้ง่ายขึ้นอาจเป็นเพราะความแห้งแล้งทำให้สัตว์ป่าต้องเดินหาแหล่งน้ำ รวมทั้งสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น เก้ง กวาง กระทิง และหมูป่า เสือโคร่งจึงเดินตามเหยื่อออกมา ซึ่งเสือโคร่งที่นักท่องเที่ยวถ่ายภาพไว้ได้นี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเสือโคร่งตัวเดิมที่พบในฤดูฝนเมื่อปี 2557 และเมื่อปี 2558 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ว่าพบเห็นเสือโคร่งเช่นกัน

การพบเห็นเสือโคร่ง ยังแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีเหยื่อของเสือโคร่งจำนวนมาก เสือโคร่งมักจะย้ายถิ่นฐานไปสู่พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์หรือมีเหยื่อมากกว่าอยู่แล้ว ปัจจุบันป่าแม่วงก์มีเสือโคร่งตัวเต็มวัยที่อพยพมาจากป่าห้วยขาแข้งประมาณ 10 ตัว และมีลูกเสืออีก 5-7 ตัว

ทั้งนี้ หากพบเสือโคร่งโดยบังเอิญ นักท่องเที่ยวไม่ควรถ่ายภาพ เนื่องจากอาจไม่ปลอดภัย แต่เข้าใจว่านักท่องเที่ยวที่ถ่ายภาพเสือโคร่งในครั้งนี้ได้อยู่ในรถยนต์จึงยังมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่หากไม่มีสิ่งคุ้มกันใดๆ เลยไม่ควรถ่ายภาพ เพราะว่าแสงแฟลชอาจทำให้เสือโคร่งตกใจ

นายสุธนแนะนำเพิ่มเติมว่า หากเจอเสือโคร่งในระยะประชิดควรอยู่นิ่งที่สุด อย่าทำร้ายหรือแสดงอาการคุกคามให้เสือโคร่งรู้สึกไม่ปลอดภัย สัญชาติญาณของเสือโคร่งจะกลัวคนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีการคุกคามก็จะหนีไป

สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ นายสุธนกล่าวว่า อุทยานฯ แม่วงก์มีไฟป่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ ร้อยละ 30-40 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในผืนป่าเบญจพรรณ โดยพบว่าในพื้นที่อุทยานฯ แม่วงก์มีจุดความร้อน (Hot Spot) ที่เป็นจุดเกิดไฟป่าหรือมีอุณหภูมิสูงผิดปกติมากกว่า 10 จุด แต่หากเปรียบเทียบกับเนื้อที่ป่า 500,000-600,000 ไร่ ก็ถือว่าไม่รุนแรงนัก

สำหรับวิธีระงับไฟป่าเบื้องต้นจะมีการป้องกันด้วยการวิธีการทำแนวกันไฟ มีการชิงเผาในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า แต่สำคัญที่สุดคือการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือจากประชาชนให้งดการเผาเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง