รมว.อก.ยันเสนอเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ให้ ครม.พิจารณาพรุ่งนี้ หลังใบอนุญาตหมดอายุ 13 พ.ค. 59

Logo Thai PBS
รมว.อก.ยันเสนอเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ให้ ครม.พิจารณาพรุ่งนี้ หลังใบอนุญาตหมดอายุ 13 พ.ค. 59
รมว.อุตสาหกรรม ยันเสนอเรื่องเหมืองทองคำพิจิตร เข้า ครม. พรุ่งนี้ (10 พ.ค.) แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด หลังใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมเหมืองทองสิ้นสุด 13 พ.ค.59 ด้านนายกฯ สั่งหากไม่กระทบเดินหน้าต่อได้ แต่หากกระทบประชาชน ต้องหยุดแก้ไข

จากกรณีมีกระแสข่าวว่าวันพรุ่งนี้ (10 พ.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาวาระการต่อใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ จ.พิจิตร คาบเกี่ยวรอยต่อ จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก ซึ่งมีพื้นที่ประกอบกิจการกว่า 3,000 ไร่

วันนี้ (9 พ.ค. 2559) นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อก. กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอเรื่องการพิจารณาเรื่องใบอนุญาตเหมืองแร่ ให้ ครม. พิจารณาจริง แต่ยังไม่แน่ใจว่า ครม.จะพิจารณาเลยหรือไม่ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้ ครม.ประกอบการพิจารณานั้น กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ขอเปิดเผย และขอให้รอฟังผลจากที่ประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (10 พ.ค.) เพื่อความชัดเจน

ด้าน นายชาติ หงษ์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดที่ กพร.พิจารณาเพื่อเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของประเด็นรายละเอียดที่พิจารณาเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา รวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่เป็นไปตามขั้นตอนพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ต่อใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมของเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการนัดประชุมในส่วนของ กพร.ในช่วงสัปดาห์นี้ โดยใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมของเหมืองแร่ชาตรี จะสิ้นสุดในวันที่ 13 พ.ค. 2559

ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบวาระการประชุม ครม.แล้ว ไม่มีประเด็นเรื่องเหมืองแร่ทองคำเสนอเพื่อให้ ครม.ทราบหรือเพื่อพิจารณา แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีการเสนอเป็นวาระจรหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมานโยบายเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำหรือโครงการที่มีข้อร้องเรียนจากประชาชน ทางรัฐบาลหรือ ครม.รับทราบโดยตลอด รวมถึงกรณีที่ประชาชนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาลหลายครั้ง

“สำหรับการพิจารณานั้น ตามหลักการแล้วเมื่อเกิดปัญหาก็จะต้องไปตรวจสอบ มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา และต้องมีข้อมูลทางวิชาการมาประกอบการพิจารณาที่ต้องได้รับความน่าเชื่อถือ หากตรวจสอบแล้วโครงการไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน ก็สามารถเดินหน้าได้เพื่อการพัฒนาและการลงทุน ซึ่งรัฐบาลต้องส่งเสริมนักลงทุนด้วย แต่หากเกิดผลกระทบ มีข้อร้องเรียน หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ก็ต้องหยุดแล้วแก้ไขก่อน ทั้งนี้ เวลาประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็รับทราบถึงปัญหานี้ และนายกฯ เป็นคนซักถามรายละเอียดต่างๆ จนชัดเจนในตอนประชุม ถึงให้การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง