ครม.สั่งปิดเหมืองทองชาตรี จ.พิจิตร สิ้นปีนี้ พร้อมระงับนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ

สิ่งแวดล้อม
10 พ.ค. 59
17:55
2,955
Logo Thai PBS
ครม.สั่งปิดเหมืองทองชาตรี จ.พิจิตร สิ้นปีนี้ พร้อมระงับนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ
ครม.สั่งปิดเหมืองทองของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส สิ้นปี 59 และยุตินโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ พร้อมเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ

วันนี้ (10 พ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า คณะรัฐมนตรี สั่งปิดเหมืองชาตรี อัครา สิ้นปี 2559 โดยสั่งห้ามทำเหมืองทองและสั่งหยุดนโยบายสำรวจแร่ทองคำทั่วประเทศ ส่วนเหมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เหมืองทองและมีอยู่เดิมแล้วให้เดินหน้าตามปกติ ส่วนเหมืองทองชาตรีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ใน จ.พิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ มีพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมจะสิ้นสุด 13 พ.ค.59 แต่ ครม. มีมติให้ขยายไปถึง 31 ธ.ค.2559 เพื่อให้พนักงานและผู้รับเหมา รวมกว่า 1,000 คน หางานใหม่ได้ทันและเปิดทางให้บริษัทขนแร่ได้โดยไม่เกิดความเสียหายมากนัก

จากนั้นหลังสิ้นปีให้ปิดเหมืองอย่างไม่มีกำหนด โดยบริษัทต้องส่งแผนฟื้นฟูให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีแผนฟื้นฟูอย่างไร ซึ่งหากบริษัท ฟ้องร้อง กระทรวงก็พร้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยขั้นตอนการปิดเหมืองและฟื้นฟูมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพย์ฯรับผิดชอบ

ที่ประชุมครม.มีมติร่วมกัน ตามที่ 4 กระทรวงเสนอ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้
1. ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร
2. ในกรณีของบริษัท อัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัท อัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต
3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหะกรรมของบริษัท อัคราฯ ดังนี้
- กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่
- กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
- กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการส่วนราชการต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามมติร่วมกันของทั้ง 4 กระทรวงข้างต้นแล้ว

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ ทั้งด้านการกำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือพนักงานของบริษัท อัคราฯ นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรม จะประสานกับกระทรวงแรงงานในการให้ความช่วยเหลือแล้ว จะประสานผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรให้นำเงินกองทุนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีเงินประมาณ 45 ล้านบาท มาให้การช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบด้วย

ส่วนวันพรุ่งนี้ (11 พ.ค.) อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะแถลงชี้แจง เกี่ยวกับประเด็นที่บริษัทจะต้องดำเนินการในขั้นตอนต่างๆที่ ครม. มีมติอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นางอรรชกา มั่นใจว่า มติดังกล่าวที่ทำให้หยุดเหมืองทองคำ จะไม่ส่วผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและออสเตรเลียรวมถึงนักลงทุนประเทศอื่น เพราะเชื่อว่าจะอธิบายให้เข้าใจได้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงชีวิตประชาชนเป็นสำคัญ

นายกฯ ประกาศลั่น ภายในสิ้นปีนี้ไม่มีเหมืองทอง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตร โดยนายกฯ เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมจนถึงสิ้นปี 2559 จากนั้นให้ยุติการดำเนินการ

"ผมสั่งการไปแล้วว่าภายในสิ้นปี 2559 จะไม่มีการทำเหมืองแร่ทองอีกต่อไป ในระหว่างนี้จะต้องแก้ปัญหาเรื่องการปรับพื้นที่คืนสภาพ การหางานให้คนงานเหมืองกว่า 1,000 คน เหมืองนี้สร้างกันมากี่ปีแล้ว ปัญหามันเกิดมาจากใคร ผมก็ต้องแก้แบบนี้ แต่สิ้นเดือนธันวาคม 2559 จะต้องไม่มีเหมืองทองอีกต่อไป" นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า การตัดสินใจให้หยุดทำเหมืองทองนี้มาจากการมติของ 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนรัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยารักษา ซึ่งก็ยังไม่มีผลยืนยันทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่าความเจ็บป่วยของประชาชนที่อยู่รอบเหมืองนั้นเกิดจากอะไร และหลังจากปิดเหมืองแล้ว จะต้องมีการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมามีสภาพตามธรรมชาติเหมือนเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง