จังหวัดน่านพบป่าต้นน้ำถูกทำลายร้อยละ 28 จ่อให้ชาวบ้านเลิกปลูกข้าวโพด หวังฟื้นป่า

สิ่งแวดล้อม
12 พ.ค. 59
15:16
3,704
Logo Thai PBS
จังหวัดน่านพบป่าต้นน้ำถูกทำลายร้อยละ 28 จ่อให้ชาวบ้านเลิกปลูกข้าวโพด หวังฟื้นป่า
ที่ประชุมการจัดการแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำจังหวัดน่านเสื่อมโทรมพบป่าถูกทำลายไปแล้ว 1,680,000 ไร่ โดยสาเหตุหลักเกิดจากความล้มเหลวของเกษตรกรรมและทุนเอกชนที่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพด ขณะที่การแก้ไขปัญหาเสนอให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการและเปลี่ยนมาปลูกพืชแบบผสมผสาน

วันนี้ (12 พฤษภาคม 2559) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับจังหวัดน่านและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม แหล่งข่าวในที่ประชุมระบุว่า มีการสรุปสภาพปัญหาเพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาป่าต้นน้ำที่จังหวัดน่านเสื่อมโทรมโดยพบว่า พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านทั้งหมด 6 ล้านไร่ ปัจจุบันถูกทำลายไปถึงร้อยละ 28 หรือราว 1,680,000 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 72 ก็ไม่ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่จนจะมีสภาพที่เป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ ไม่สามารถป้องกันภัยแล้ง อุทกภัย และดินโคลนถล่มได้ และพบว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถฟื้นฟูได้เพียงร้อยละ 12 จากป่าทั้งหมด หรือราว 720,000 ไร่เท่านั้น ส่วนอีกราว 960,000 ไร่ ไม่สามารถฟื้นฟูได้ เนื่องจากหมดสภาพป่าอย่าถาวรไปแล้ว โดยถูกใช้เป็นทั้งสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย

 

ส่วนแนวทางทางที่จะฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ทางจังหวัดจะรวบรวมแนวทางการดูแล บริหารจัดการป่าต้นน้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการดูแลพื้นที่ป่า เพื่อจัดทำเป็นแผนจังหวัด

“คือให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการป่า โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งแนวทางหลักๆ คงต้องปรับเปลี่ยนการเกษตรจากการปลูกข้าวโพดไปเป็นการปลูกแบบผสมผสาน คือปลูกไม้ใหญ่ ประเภท ไม้ป่า ไม้ผล และปลูกพืชผักและไม้พื้นล่างต่างๆ และให้ชาวบ้านสามารถเก็บหาผลผลิตได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้สามารถยังชีพได้ ในขณะที่ภาครัฐจะต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ด้านการจัดการไฟป่า การจัดการแหล่งน้ำ และจัดการเรื่องการตลาดให้แก่ชาวบ้าน เป็นต้น ซึ่งที่นี่จะนำร่องวิธีการแบบนี้เป็นพื้นที่แรก หากได้ผลก็อาจจะขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ ได้” แหล่งข่าวกล่าว

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดน่านจะประสานกับชุมชนต่างๆ เพื่อยกร่างแผนให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และเสนอต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาด้านกฎหมายต่อไปว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเก็บหาประโยชน์ได้โดยชอบ และการบริหารจัดการตามแผนจะเกิดความยั่งยืน ไม่เกิดการเปลี่ยนมือในที่ดิน หรือให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างไรที่ไม่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำอีกต่อไปในอนาคต

 

ที่ประชุมยังสรุปถึงสาเหตุการสูญเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำจังหวัดน่านว่า เกิดจากการความล้มเหลวของเกษตรกรรมแบบเดิมที่ชาวบ้านปลูกลิ้นจี่ ลำไย แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐจนราคาตกต่ำ ประกอบกับเข้ามาของทุนนิยมส่งเสริมการปลูกข้าวโพด รวมทั้งการใช้สารเคมี ทำให้ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตตกต่ำจนในที่สุดต้องขยายพื้นที่บุกรุกป่าเพิ่มขึ้นจากที่ทำกินดั้งเดิมเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการยังชีพ

แหล่งข่าวระบุว่า ในที่ประชุมมีบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจการค้าพืชไร่และสถาบันการเงินเข้าร่วมประชุมด้วย โดยยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนตามแนวทางของแผนที่จะดำเนินการดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง