2 ปี 70 ฉบับ : รัฐประหาร มาตรา 44 และคำสั่งหัวหน้า คสช.

การเมือง
22 พ.ค. 59
11:14
2,016
Logo Thai PBS
2 ปี 70 ฉบับ : รัฐประหาร มาตรา 44 และคำสั่งหัวหน้า คสช.
หากปีแรกของการทำรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เป็นช่วงของการควบคุมสถานการณ์ การวางรากฐานสำหรับการใช้อำนาจผ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราวและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาล ปีที่ 2 ของ คสช. คือการใช้อำนาจนั้นอย่างเต็มที่ผ่าน "คำสั่งหัวหน้า คสช."

พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2557 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 ม.ค.2558) เป็นคำสั่งเรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งถึงวันนี้ (22 พ.ค.2559) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 2 ปี ของการทำรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งหมด 70 ฉบับ หรือเฉลี่ยเดือนละ 3.8 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดลงนามเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2559 เรื่องการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยไม่ต้องสรรหา

คำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งหมดเป็นการออกคำสั่งโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ระบุไว้ว่า

"มาตรา 44 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว"

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์โดยยอมรับว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 อาจจะแรงกว่ากฎหมายอื่นๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่านำไปใช้ในเรื่องใด พร้อมกับยืนยันว่ามาตรา 44 จะถูกนำไปใช้ "อย่างสร้างสรรค์" ในการแก้ปัญหาและจัดระเบียบสังคม เช่น การปราบปรามการค้ามนุษย์ การบุกรุกพื้นที่ป่า หรือการควบคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล

ความกังวลเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึก เริ่มดังขึ้นจากหลายฝ่ายทั้งในและนอกประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลและ คสช.ต้องมีการชี้แจงเรื่องนี้ต่อคณะทูตและสื่อมวลชนที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2558

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงจรดปากกาลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างต่อเนื่อง ข้อความที่ว่า "อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้..." กลายเป็นข้อความที่ผู้ติดตามการเมืองคุ้นหูมากที่สุดข้อความหนึ่งในปีที่ 2 ของการอยู่ในอำนาจของหัวหน้า คสช.

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ในช่วงเริ่มต้นจะเป็นเหมือนการใช้ "ยาแรง" ดูเหมือนจะกลายเป็น "ยาสามัญประจำบ้าน" ที่ พล.อ.ประยุทธ์หยิบมาใช้เพื่อจัดการกับเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ความมั่นคง เศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมาย การโยกย้ายแต่งตั้ง การปลดข้าราชการ การประมูล 4G การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปจนถึงการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับไปร่วมประเพณีสงกรานต์

ในโอกาสครบรอบ 2 ปี การทำรัฐประหารโดย คสช. "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ได้รวบรวมคำสั่งหัวหน้า คสช.ทุกฉบับรวม 70 ฉบับ ตั้งแต่ฉบับแรก (ฉบับที่ 1/2557 ลงนามวันที่ 25 ธ.ค.2557) จนถึง ณ วันที่ 22 พ.ค.2559 เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการสืบค้น และเพื่อให้เห็นภาพรวมของการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกในปี 2557

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกในปี 2558

หมายเหตุ: คำสั่งที่ 2, 14 และ 15/2558 เป็นคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 จึงไม่ได้นำมารวมไว้ในที่นี้

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกในปี 2559 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง