สัตวแพทย์-กูรูบ้าน แนะวิธีป้องกัน "งู" บุก "ส้วม"

สังคม
25 พ.ค. 59
14:59
1,708
Logo Thai PBS
สัตวแพทย์-กูรูบ้าน แนะวิธีป้องกัน "งู" บุก "ส้วม"
เหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งถูกงูเหลือมเลื้อยออกมาจากคอห่านและกัดอวัยวะเพศทำให้หลายคนหวาดผวา ซึ่งสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัยเตือนว่าหลายบ้านมีความเสี่ยงที่งูจะแอบมาอยู่อาศัยและหาอาหาร แนะนำให้กำจัดแหล่งอาหารของงู ปิดโพรงรูรอบบ้านและอย่าให้บ้านรก

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเช้าวันนี้ (25 พ.ค.2559) ที่บ้านพักหลังหนึ่งใน ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยเฟซบุ๊ก "คนข่าวบางปะกง" รายงานว่า นายอัฎฐพร บุญมากช่วย อายุ 38 ปี ถูกงูเหลือมขนาดยาวกว่า 3.50 เมตรกัดอวัยวะเพศ ขณะกำลังเข้าห้องน้ำเมื่อเวลาประมาณ 06.30 น.

เมื่อรู้สึกว่าถูกกัดก็ได้จับคองูไว้และค่อยๆ งัดฟันงูออก จนกระทั่งงูเหลือมอ่อนแรงจึงยอมปล่อย ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว

น.สพ.ทักษะ เวสารัชชพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญนายสัตวแพทย์ 8 สวนงู สถานเสาวภา กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันนี้พื้นที่ตามธรรมชาติที่งูอยู่อาศัยเหลือน้อยลงกลายเป็นพื้นที่เมือง งูบางชนิดจึงมาอาศัยอยู่ตามท่อประปาในบ้านเรือน เพราะหาอาหารได้ง่าย เช่น จับหนูในท่อน้ำหรือจับสัตว์เลี้ยงตามบ้านเรือนเป็นอาหาร อีกทั้งใต้พื้นดิน ยังมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัยของงูหลายชนิด ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งที่พบมากสุดคือ งูเหลือม งูเขียวพระอินทร์ และงูเห่า

น.สพ.ทักษะ กล่าวว่า งูมักเลื้อยเข้าบ้านคนด้วย 2 ปัจจัย คือ ต้องการหาอาหารและหาที่หลบภัย และไม่ว่าบ้านจะมีลักษณะแบบใดงูก็สามารถเลื้อยเข้าได้หากมีรู เช่นเดียวกับใต้อาคารหรือบ้านที่ทรุดตัว จะมีลักษณะเป็นโพรงเหมือนถ้ำ อุณหภูมิใต้พื้นดินคงที่ไม่ร้อนเร็วหรือเย็นเร็วเกินไป ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่งูชอบ

"วิธีการดูแลป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้าน คือลดแหล่งอาหารของงู เช่น กำจัดหนูในบ้าน หรือจัดสภาพแวดล้อมไม่ให้มีพื้นที่รก อับ และชื้น และตรวจสอบ ซ่อมแซมปิดโพรงรูรอบบ้าน เพราะอาจเป็นมุมที่งูสามารถไปหลบซ่อนตัวอยู่ได้" น.สพ.ทักษะกล่าว

น.สพ.ทักษะแนะนำว่า ในช่วงฤดูฝนสัตว์เลื้อยคลานจะมีจำนวนมากขึ้น หากพบสัตว์มีพิษไม่ควรเข้าไปจับอย่างเด็ดขาด เพราะอาจถูกกัดและเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ผู้พบเห็นสามารถแจ้งมายังสายด่วนดับเพลิง 199 หรือสายด่วน กทม.1555 เพื่อช่วยเหลือและจับสัตว์ต่างๆไปอยู่ในที่เหมาะสม

นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ระบบบำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลในบ้านเรือนหลายแห่งยังใช้วิธีการที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่เป็นไปตามหลักเทศบัญญัติ ซึ่งกำหนดให้ต้องทำบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลลงถังเก็บก่อนที่จะปล่อยไป ซึ่งปัญหานี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์เล็ดลอดเข้ามาทำร้ายผู้อยู่อาศัยได้

นายพิชิตสันนิษฐานว่า บ้านที่เกิดเหตุงูเหลือมเลื้อยเข้ามาทางคอห่านนี้อาจจะไม่มีระบบถังบำบัดน้ำเสีย

นายพิชิต ยังกล่าวอีกว่า แต่ละบ้านควรมีการจัดการระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกต้องตามหลักสุขบัญญัติ การป้องกันจำเป็นต้องทำตามหลักสุขบัญญัติ ควรจะมีบ่อเกรอะ-บ่อซึม หรือถังสำเร็จรูป ขณะที่ในส่วนของท่อระบายน้ำก็ควรจะมีตะแกรงปิดฝ่าบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลื้อยคลานมุดฝาท่อเข้าไปได้ 

ขณะที่ น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำ 5 วิธีการป้องกันงูเลื้อยขึ้นมาทางคอห่าน ดังนี้
1.ใส่ตะแกรงหรือช่องตาข่ายที่ปลายท่อน้ำทิ้งด้านนอกอาคาร ก่อนออกสู่บ่อเกรอะ
2.ใส่ตะแกรงหรือช่องตาข่ายของท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำและห้องส้วม
3.ก่อนเข้าห้องน้ำหรือห้องส้วมให้เปิดไฟให้มีแสงสว่างก่อน และส่งเสียงเตือนเพื่อให้งูหลบหนีไป
4.ก่อนใช้โถส้วมให้เคาะส่งเสียง และเปิดช้าๆ โดยสังเกตสิ่งผิดปกติภายในไปด้วย
5.ใช้สารเคมีจากน้ำยาดับกลิ่นผสมลงไปในคอห่านของโถส้วม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง