กรมสุขภาพจิตแนะ 5 ป้อง 5 หยุด ลดปัญหาเด็กแกล้ง-รังแกเพื่อน

สังคม
26 พ.ค. 59
10:58
512
Logo Thai PBS
กรมสุขภาพจิตแนะ 5 ป้อง 5 หยุด ลดปัญหาเด็กแกล้ง-รังแกเพื่อน
กรมสุขภาพจิต เผยการกลั่นแกล้ง หรือรังแกเพื่อนในโรงเรียนเป็นพฤติกรรมความรุนแรงอย่างหนึ่ง ส่งผลกระทบให้เด็กมีอารมณ์ซึ่มเศร้าและอาจต้องออกจากโรงเรียน พร้อมแนะนำ 5 วิธีป้องกันลูกจากการถูกรังแกและ 5 วิธีสอนลูกให้หยุดรังแกเพื่อน

วันนี้ (26 พ.ค.2559) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการกลั่นแกล้งหรือรังแกกันในโรงเรียน ว่า เป็นพฤติกรรมความรุนแรงอย่างหนึ่งที่่มีทั้งการข่มเหงรังแกทางกาย เช่น การผลัก ต่อย หยิก ดึงผม ใช้อุปกรณ์แทนอาวุธในการข่มขู่ การข่มเหงทางอารมณ์ เช่น การล้อเลียน หรือทำให้รู้สึกอับอาย การกีดกันออกจากกลุ่ม การเพิกเฉย ทำเหมือนไม่มีตัวตน การข่มเหงรังแกทางคำพูด เช่น การใช้คำหยาบคายหรือดูถูก เหยียดหยาม ล้อเลียนลักษณะภายนอกในทางลบและการข่มเหงรังแกทางอินเทอร์เน็ต เช่น ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ กล่าวหาหรือใส่ความเหยื่อให้ได้รับความอับอาย โดยผลกระทบของการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียน ทำให้เด็กที่ถูกรังแกมีอารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล เพิ่มความรู้สึกโดดเดี่ยว การกินการนอนผิดปกติ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ซึ่งปัญหานี้อาจยังคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ จะมีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ รวมถึงมีผลการเรียนลดลง หรือต้องออกจากโรงเรียน ตลอดจนมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต ขณะที่เด็กที่ชอบรังแกผู้อื่นจะมีความเสี่ยงใช้แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดเมื่อเป็นวัยรุ่น รวมทั้งชอบทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินและอาจต้องออกจากโรงเรียน เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายคู่สมรสและบุตรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า การข่มเหงรังแกเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก แต่มักถูกมองข้ามง่ายในสังคมไทย พบว่าร้อยละ 40-80 ของเด็กวัยเรียนเคยถูกรังแกอย่างน้อย 1 ครั้งตลอดช่วงเวลาที่เป็นนักเรียน โดยอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าเด็กพิเศษมีความเสี่ยงที่จะถูกรังแกมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีระดับความต้านทานต่อแรงกดดันที่ต่ำ เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด หรือกังวล เด็กกลุ่มนี้อาจแสดงอาการที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เช่น ตะโกนเสียงดัง แสดงท่าทางซ้ำๆ ซึ่งจะทำให้เป็นเป้าหมายของการถูกรังแก รวมถึงความล่าช้าของพัฒนาการบางด้านในเด็กกลุ่มนี้อาจทำให้มีความยากลำบากในการสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อน เช่น ในเด็กที่มีปัญหาการพูดจะทำให้การสื่อสารกับเพื่อนไม่ต่อเนื่อง หรืออาจแปลสิ่งที่เพื่อนพูดผิดไปจนทำให้เกิดอารมณ์ตามมา หรือในเด็กที่การเคลื่อนไหวไม่มั่นคงอาจเป็นอุปสรรคในการร่วมกิจกรรมบางอย่างที่โรงเรียน เช่น เตะบอล วิ่ง และอาจทำให้เด็กถูกมองว่าอ่อนแอกว่าจนเป็นเหยื่อของการรังแกได้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันลูกจากการถูกรังแก 5 ข้อ ได้แก่ 1.ชวนลูกพูดคุยถึงการข่มเหงรังแก โดยเล่าประสบการณ์การถูกรังแกของคนในครอบครัวให้เด็กฟัง เพื่อให้เข้าใจว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากเด็กมีประสบการณ์ร่วมก็จะเล่าให้ผู้ปกครองฟัง หลังจากนั้นให้ชื่นชมเด็กเกี่ยวกับความกล้าหาญในการเล่า พร้อมให้กำลังใจและปรึกษากับครูทีโรงเรียนเพื่อหาวิธีป้องกัน หรือช่วยเหลือเด็ก 2.กำจัดตัวล่อของการถูกรังแก เช่น หากเด็กถูกข่มขู่เรียกเงินค่าอาหารกลางวัน หรือของใช้ส่วนตัว ให้เด็กนำข้าวกล่องไปทาน หรืองดให้เด็กพกของมีค่าไปโรงเรียน 3.ทำกิจกรรมโดยมีเพื่อนอยู่ด้วยอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสถูกรังแกน้อยกว่าการอยู่คนเดียว 4.ฝึกการแสดงออกทางอารมณ์และดำเนินชีวิตเป็นปกติ ไม่แสดงอารมณ์ หรือปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการกระทำนั้นๆ แต่ให้บอกผู้รังแกว่าหยุดพฤติกรรมนั้นแล้วเดินห่างออกมา หากเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงอาการ จะลดแรงจูงใจในการถูกรังแกได้ 5.พ่อแม่ควรพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้รังแก โดยควรมีคุณครู หรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเข้าร่วมพูดคุยด้วย

ส่วนวิธีช่วยลูกให้หยุดรังแกเพื่อน 5 ข้อ ได้แก่ 1.สอนให้เด็กรู้ว่าการรังแกผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากผู้ปกครองและสังคมภายนอก พร้อมตั้งกฎในการลงโทษหากเด็กรังแกเพื่อน เช่น การจำกัดสิทธิ์ในกิจกรรมที่เด็กชอบทำ เช่น งดใช้คอมพิวเตอร์ งดขนมที่เด็กชอบ 2.สอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่นและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้มีกิจกรรมร่วมกับเด็กที่มีความแตกต่างกับตัวเอง 3.หาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เด็กรังแกเพื่อน ทั้งในด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เช่น มีเด็กคนอื่นที่ชอบรังแกเพื่อนอีกหรือไม่ เพื่อนของลูกมีพฤติกรรมนี้ด้วยหรือไม่ ลูกต้องเผชิญกับความกดดันใดหรือไม่ โดยปรึกษาคุณครู นักจิตวิทยาโรงเรียน หรือกลุ่มผู้ปกครองในการหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน 4.ชมเชยหรือให้รางวัลเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี สามารถแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้วิธีทางบวกและสร้างสรรค์ 5.เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะพูด หรือกระทำการใดๆ กับเด็กในช่วงที่มีปัญหา หรือความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัว หากผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าเด็ก เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ควรแสดงให้เด็กเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร โดยผู้ปกครองสามารถบอกความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นและแสดงให้เด็กเห็นว่าควรจะจัดการต่ออารมณ์อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง