แล้งอย่างไรให้รอด สิ่งที่ไทยควรเรียนรู้จากเวียดนาม

ภัยพิบัติ
27 พ.ค. 59
06:23
505
Logo Thai PBS
แล้งอย่างไรให้รอด สิ่งที่ไทยควรเรียนรู้จากเวียดนาม
ภัยแล้งเวียดนามที่รุนแรงที่สุดใน 90 ปี ฝนไม่ตกตามฤดูกาลที่ส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำจืด ไม่เพียงแต่กระทบพื้นที่ปลูกข้าว แต่ยังกระทบการเลี้ยงกุ้งในเขตน้ำกร่อยแถบชายฝั่งทางตอนใต้ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ค่าความเค็มของน้ำที่เกินกว่าระดับที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.บักเลียว ประเทศเวียดนาม จำเป็นต้องงดการเลี้ยงกุ้งออกไปในปีนี้

 

เล วัน ลวน เกษตรกรเลี้ยงกุ้งใน อ.เหยาบินห์ จ.บักเลียว เปลี่ยนมาเลี้ยงปูตั้งแต่ต้นปี จากปกติที่เลี้ยงเพียงปีละ 2-3 เดือนเท่านั้น ในช่วงฤดูแล้ง แต่ปีนี้ ฝนตกน้อยลงกว่าปีก่อนๆ ที่จะเริ่มตกในเดือนมีนาคม แต่จนถึงพฤษภาคมยังไม่มีฝน และแดดที่แรงจัด ทำให้สภาพน้ำมีความเค็มสูง

 

เล นำอุปกรณ์วัดระดับความเค็มของน้ำวัดค่าความเค็มในบ่อน้ำให้ทีมข่าวไทยพีบีเอสดู พบว่าค่าความเค็มของบ่อน้ำบางบ่อสูงกว่า 40-50 PPT ขณะที่ค่าน้ำที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกุ้งอยู่ที่ 10-30 PPT

แม้กำไรจากการขายปูไม่มากเท่าการเลี้ยงกุ้งที่ราคาดีกว่า แต่ด้วยต้นทุนที่น้อยกว่า และอัตราการรอดชีวิตที่ทนน้ำเค็มน้ำเค็มได้มากกว่ากุ้ง ทำให้เป็นทางเลือกของการปรับตัว อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าปีนี้ขนาดของปูเล็กกว่าปีที่แล้วและโตช้ามาก

“เลี้ยงกุ้งมากว่า 10 ปี หลายปีที่ผ่านมาได้กำไรเยอะมาก และกุ้งมีคุณภาพดี แต่ปีนี้หากเลี้ยงกุ้งต่อไป ก็คงจะไม่ได้จำนวนเท่ากับปีที่แล้ว ปีก่อนๆ เลี้ยงกุ้ง 6 บ่อ แต่ปีนี้คาดว่า คงเลี้ยงแค่ 2-4 บ่อเท่านั้น” เล กล่าว

เกษตรกรเวียดนาม บอกว่าการเปลี่ยนมาเลี้ยงปู การดูแลไม่ต้องพิถีพิถันเท่าเลี้ยงกุ้ง และใช้แรงงานดูแลน้อยกว่า ราคาขายปูอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 350 บาท 

ด้าน นายเหวียน ฮิว เทียน นักวิจัยอิสระด้านทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวต่อภัยแล้งว่า ในพื้นที่ชายฝั่ง เกษตรกรต้องใช้ประโยชน์จากน้ำเค็มให้มากขึ้นจากการเปลี่ยนระบบการทำเกษตรกรรม ระดับนโยบาย ควรมีการจัดการการทำเกษตรกรรมตามแต่พื้นที่ น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด เช่น ในพื้นที่น้ำกร่อยควรลดการปลูกข้าวให้เหลือในฤดูฝนครั้งเดียว ขณะเดียวกันรัฐสามารถลดผลกระทบต่อภัยแล้งได้ โดยการติดตามระดับน้ำในฤดูน้ำหลากของลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อแจ้งคำเตือนต่อเกษตรล่วงหน้า

“ปีที่แล้วระดับน้ำที่ท่วมในพื้นที่ตอนบนของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่ติดกับกัมพูชามีระดับต่ำลง ปีปกติจะท่วมสูงกว่า 3 เมตร แต่ปีที่แล้วท่วมเพียง 30 เซ็นติเมตร การเปลี่ยนแปลงแบบนี้เป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์น้ำในหน้าแล้งได้ดี” นายเหวียนกล่าว

 

เหวียน ฮิว เทียน นักวิจัยอิสระด้านทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง

ขณะที่ภัยแล้งในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เกี่ยวโยงกับการใช้ทรัพยากรน้ำโขงร่วมกันของไทย จีน ลาว กัมพูชา ศ.เหวียน ฮิว ทรุง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ มองว่า ยังจำเป็นที่ต้องมีกลไกหรือข้อตกลงเพื่อแบ่งปันการใช้ทรัพยากรในลุ่มน้ำ ลดผลกระทบของการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง รวมถึงความร่วมมือติดตามข้อมูลภัยพิบัติระหว่างประเทศ

 

ศ.เหวียน กล่าวว่า คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (MRC) ควรสร้างความร่วมมือในรูปแบบนี้ “ในอนาคต การมอนิเตอร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความสำคัญ เราควรร่วมมือกันมอนิเตอร์ อากาศ แม่น้ำ และแชร์ข้อมูลกัน ดังนั้นก็จะได้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกันได้ เพราะแต่ละประเทศอาจทำประเทศเดียวไม่ได้ และต้องวิจัยกับสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น” รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ ระบุ

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง