จาก "ทองปาน" ถึง "คู่กรรม" คุยผู้กำกับชั้นครู "ยุทธนา มุกดาสนิท"

Logo Thai PBS
จาก "ทองปาน" ถึง "คู่กรรม" คุยผู้กำกับชั้นครู "ยุทธนา มุกดาสนิท"
ด้วยผลงานภาพยนตร์คุณภาพทรงอิทธิพลกับผู้ชมตลอด 40 ปี ทำให้ชื่อของ "ยุทธนา มุกดาสนิท" ได้รับยกย่องเป็นต้นแบบคนทำหนังไทย และยังเป็นผู้บุกเบิกวิธีทำหนังยุคใหม่ ซึ่งควรค่าแก่การศึกษา

"สำหรับผมจะคิดทำแต่ละเรื่องที่เป็นแรงจูงใจให้ทำหนัง อยู่ที่ประเด็นที่น่าสนใจอะไรบ้าง"

ปณิธานชัดเจนว่าทำหนังแต่ละเรื่องต้องเป็นประเด็นที่สังคมสนใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือวิธีคิดในการทำหนังของผู้กำกับดัง "ยุทธนา มุกดาสนิท" ที่ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ในกิจกรรม "ชั้นครู" โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ผลงานแต่ละเรื่อง ทั้ง "น้ำพุ" ปี 2527 ที่สะท้อนปัญหาครอบครัวและยาเสพติด ปลุกกระแสให้โรงเรียนต้องพานักเรียนตีตั๋วเข้าชม หรือ "ทองปาน" ภาพยนตร์ต้องห้ามที่พูดถึงผลกระทบชาวนาจากการสร้างเขื่อนผามอง รวมถึง "เทพธิดาโรงงาน" ซึ่งมีส่วนในกระแสเรียกร้องสวัสดิการผู้ใช้แรงงานในปี 2525 สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของสื่อภาพยนตร์ที่สร้างผลกระทบให้สังคมตามความตั้งใจของผู้กำกับ

"ทองปาน" (พ.ศ.2520) เรื่องราวเกี่ยวกับชาวนาอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนผามอง จ.เลย เป็นภาพยนตร์ที่วิพากษ์นโยบายการพัฒนาของรัฐยุคหลัง 14 ตุลา

ผู้กำกับชั้นครู กล่าวถึงหลักการทำหนัง ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อสารมวลชนว่านอกจากต้องอิงกระแสตลาด ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะสื่อมวลชน "ทำหนังต้องดูกระแสตลาดว่าเป็นอย่างไร และกระแสสังคมเป็นอย่างไร มีอะไรที่น่าจะพูด หรือมีสิ่งที่เป็นแนวคิดใหม่ที่นำเสนอเพื่อการแก้ไข ภาพยนตร์เป็นสื่อสารประเภทหนึ่งในรูปแบบของความบันเทิง คนทำก็คือนักสื่อสารมวลชน และนักสื่อสารมวลชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม"

 

ยุทธนา ยังเป็นผู้บุกเบิกวงการหนังไทยด้วยเทคนิคการทำหนังที่ใช้ความปราณีต เช่น การวางมุมกล้องในภาพยนตร์คู่กรรม ปี 2538 โดยใช้ภาษาภาพแบบเดียวกับหนังฮอลลีวูด หรือการใช้วิธี Life Study ลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลนานแรมเดือน เพื่อพัฒนาบทภาพยนตร์ หวังให้ผลงานออกมาสมจริงที่สุด เช่น หลังคาแดง ปี 2530 ทำความเข้าใจผู้ป่วยในโรงพยาบาลศรีธัญญา

หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของยุทธนาอย่าง "ผีเสื้อและดอกไม้" คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับชื่อดัง ปรัชญา ปิ่นแก้ว เดินตามรอย เพราะชื่นชมในฝีมือการกำกับที่สามารถสะกดคนดูให้มีความรู้สึกร่วมไปกับภาพยนตร์

 

"ผมเป็นคนอีสาน แล้วตอนนั้นผมมีเพื่อนเป็นคนใต้ มันเห็นภาพชีวิตเขาเลย ผมมีความรู้สึกร่วมมากจนขนาดหนึ่งในนักแสดงเสียชีวิตผมรู้สึกผูกพันกับคนนั้นไปเลย พี่หง่าว (ยุทธนา) ถือว่าเป็นผู้กำกับที่มีค่าต่อวงการหนังไทยมากๆ เป็นบุคคลที่สมควรมองเป็นแบบอย่างของการทำงานที่ดี" ปรัชญา กล่าวถึงความทรงจำในภาพยนตร์ของยุทธนา

ในความเห็นต่อวงการภาพยนตร์ไทยยุคนี้ ยุทธนามองว่า เทรนด์มีความกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะสื่อต่างๆ ทำให้รู้กว้าง แต่อาจจะไม่รู้ลึก รู้ลึกจึงเลยน้อย สไตล์หนัง 3-4 ปี เป็นอะไรที่เดิมๆ ย้อนยุค หนังผี หนังตลก หนังกะเทย


ยุทธนา เคยมีแนวคิดจะทำภาพยนตร์เรื่อง "2482 นักโทษประหาร" เพื่อสะท้อนปัญหาการเมืองในประเทศไทย หากด้วยอุปสรรคบางอย่างทำให้ต้องล้มเลิกไปในที่สุด หากบทบาทในฐานะคนต้นแบบวงการหนัง ยุทธนา ยังพยายามถ่ายทอดประสบการณ์กว่า 50 ปีให้แก่คนรุ่นหลัง อย่างน้อยก็เพื่อไห้แนวคิดภาพยนตร์สู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมยังคงส่งต่อไปสู่คนรุ่นต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง